xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายเศรษฐกิจไม่ชัดเจน ทำความเชื่อมั่นนักลงทุนในพม่าลดฮวบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในหมู่ผู้ประกอบการในพม่าลดลงอย่างมากในปีนี้ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของนโยบายทางเศรษฐกิจ ตามรายงานผลสำรวจที่เผยแพร่วานนี้ (13) ท่ามกลางความผิดหวังต่อการจัดการบริหารเศรษฐกิจของนางอองซานซูจี ผู้นำพม่า

ซูจี ระบุว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของประเทศให้สมบูรณ์ หลังประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารนานหลายทศวรรษ แต่ความล่าช้าของการเปลี่ยนแปลงได้สร้างความผิดหวังให้แก่หลายคนในประเทศ

นักลงทุนยังต้องระวังว่าพม่านั้นอาจเผชิญต่อการฟื้นคืนมาตรการคว่ำบาตรอัน เนื่องจากประเด็นปัญหาการปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ที่อาจคุกคามรัฐบาลของซูจีมากขึ้น

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจในระยะสั้นของพม่าลดลงเหลือ 49% ในปี 2560 จาก 73% ในปี 2559 ตามการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา Roland Berger และสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมพม่า

การศึกษาที่สะท้อนมุมมองเจ้าของธุรกิจท้องถิ่น และต่างชาติในพม่าราว 500 คน ระบุว่า การขาดแคลนนโยบาย และแผนทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนเป็นสาเหตุที่ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง

“สิ่งที่ภาคเอกชนดูเหมือนกำลังมองหาคือ แผนที่เจาะจงมากขึ้น และได้รับการรับรองจากรัฐบาล สิ่งที่ขาดหายไปจนถึงเวลานี้คือ การสื่อสารแผนงานการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยมีเป้าหมายชัดเจน กรอบระยะเวลา และผลที่เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว” โทมัส คล็อธ จากบริษัท Roland Berger กล่าว

ผลสำรวจดังกล่าวเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปีก่อนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ ที่สหประชาชาติ กล่าวว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งคล็อธ กล่าวว่า เหตุการณ์ในรัฐยะไข่มีแนวโน้มที่จะยิ่งลดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในพม่า

ส่วนความท้าทายอื่นๆ ที่บริษัทต่างๆ ในพม่ากำลังเผชิญ ยังรวมถึงการขาดพนักงานที่ผ่านการฝึกฝน สภาพแวดล้อมในด้านกฎหมายที่ไม่อาจทำนายได้ และการเลือกบังคับใช้กฎหมาย ผลสำรวจระบุ

นอกจากนั้น รายงานพิเศษของรอยเตอร์เมื่อวันจันทร์ (11) ยังระบุว่า พม่าจะชะลอการปฏิรูปองค์กรทางธุรกิจที่จะช่วยเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ ความเคลื่อนไหวที่ยิ่งทำลายความมั่นใจของนักลงทุนต่อฝ่ายบริหารของซูจี

จากที่เคยเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนประกาศเอกราช พม่ากลับตกอยู่ในความยากจนหลังรัฐบาลหันมาทดลองใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ที่รวมทั้งการยึดกิจการจำนวนมากมาเป็นของรัฐ

บรรดานายพลที่ปกครองประเทศยอมสละอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนในปี 2554 ที่เริ่มดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง และค่อยๆ คลายการยึดกุมธุรกิจต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม พรรคพวกของทหารยังคงครองพื้นที่ส่วนใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศ

เมื่อปีก่อน รัฐบาลได้ออกนโนบายเศรษฐกิจฉบับหนึ่งที่หลายคนกล่าวว่า ยังขาดรายละเอียด หรือแผนการที่จะบรรลุเป้าหมาย และในเดือน เม.ย. พม่าผ่านฎหมายการลงทุนที่ช่วยให้การดำเนินกระบวนการต่างๆ ง่ายมากขึ้น และช่วยให้นักลงทุนต่างชาติได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับนักลงทุนท้องถิ่น

แต่อัตราการเติบโตในการลงทุนต่างชาติ และจีดีพีชะลอตัวลงนับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของซูจี เข้าบริหารประเทศเมื่อปีก่อน โดยมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติมีอัตราเฉลี่ยที่ 739 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน อยู่ในระดับต่ำกว่ารายงานในปี 2558 ที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่ทหารหนุนหลัง

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีในปีนี้ที่ 6.7% จาก 7% แต่คล็อธ กล่าวว่า 88% ของเจ้าของธุรกิจยังคงมองในแง่บวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวของพม่าจากศักยภาพของตลาดที่มีประชากรมากกว่า 50 ล้านคน.
กำลังโหลดความคิดเห็น