xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี-สี จิ้นผิง” ชื่นชมสัมพันธ์ใกล้ชิดมุ่งสานต่อมิตรภาพท่ามกลางเสียงตำหนิวิกฤติโรฮิงญา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า เดินทางถึงพิธีเปิดการประชุมระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับพรรคการเมืองโลก ในกรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. -- Reuters/Fred Dufour.

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และนางอองซานซูจี ต่างยกย่องความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างสองชาติ ในขณะที่ผู้นำพม่าตกอยู่ภายใต้การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤติผู้ลี้ภัยโรฮิงญา

ทั้งซูจีและผู้นำจีนต่างไม่ได้กล่าวถึงชะตากรรมของชนกลุ่มน้อยมุสลิมของพม่า ขณะที่ทั้งคู่พบหารือกันในกรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ (1)

“พรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนจะยังดำเนินนโยบายมิตรภาพต่อพม่าเช่นเดิมต่อไป” ผู้นำจีนกล่าวกับซูจี ตามการรายงานของสำนักข่าวซินหวา

ซูจีที่เข้าบริหารประเทศในปี 2558 หลังพม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารกว่า 50 ปี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมพรรคการเมืองโลกที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดขึ้น

“จีนและพม่ามุ่งมั่นที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น” ซูจี กล่าว และว่าเป้าหมายการก่อตั้งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน --“ความสุขของประชาชนชาวจีนและการฟื้นฟูชาติ” -- และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธอนั้นไม่แตกต่างกัน

ซูจีได้รับความชื่นชมจากชุมชนสิทธิมนุษยชน แต่หลังจากล้มเหลวที่จะปกป้องชาวโรฮิงญาในพม่าซูจีก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

สหประชาชาติและสหรัฐฯ ระบุว่าโรฮิงญาเป็นเหยื่อของการกวาดล้างชาติพันธุ์ของกองทัพพม่า ปฏิบัติการที่ทำให้ชาวโรฮิงญากว่า 620,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่ปลายเดือนส.ค.

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาได้เล่าถึงเหตุการณ์การทารุณและละเมิดสิทธิต่างๆ ทั้งการข่มขืน การสังหาร และการวางเพลิง โดยทหารและกลุ่มม็อบชาวพุทธ แต่กองทัพพม่ายืนยันว่าการปราบปรามดำเนินไปอย่างเหมาะสมและมีเป้าหมายเพียงแค่กลุ่มกบฎโรฮิงญาเท่านั้น

“แม้พม่ายังไม่อยู่ในกลุ่มประเทศร่ำรวยและทรงอิทธิพลของโลก แต่เรามีความมุ่งมั่น จุดมุ่งหมายของเราคือการเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบของประชาคมโลก เราต้องการสร้างสันติภาพและมิตรภาพทั่วโลก” ซูจี กล่าว

พม่าได้รับการสนับสนุนจากจีนมาโดยตลอด และจีนได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในโครงการท่าเรือ และโครงการท่อน้ำมันและก๊าซในรัฐยะไข่

ประธานาธิบดีสีได้พบกับพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพพม่าในกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ปักกิ่งยังได้เสนอข้อเสนอของตัวเองที่จะจัดการกับวิกฤติโรฮิงญาด้วยการหยุดยิง การส่งกลับผู้ลี้ภัย และการบรรเทาความยากจน ขณะเดียวกันบังกลาเทศและพม่าได้บรรลุข้อตกลงที่จะเริ่มส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศในอีก 2 เดือน.
กำลังโหลดความคิดเห็น