xs
xsm
sm
md
lg

สหภาพยุโรปเรียกร้องพม่ารับประกันประชาชนในรัฐยะไข่ต้องมีสิทธิเท่าเทียมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - พม่าต้องรับประกันว่าประชาชนทุกคนในรัฐยะไข่มี “สิทธิเท่าเทียม” ขณะที่การเจรจาเกี่ยวกับการส่งกลับชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 620,000 คน ที่หลบหนีไปบังกลาเทศอยู่ระหว่างดำเนินการ ทูตสหภาพยุโรปประจำพม่าคนใหม่กล่าว

คริสเตียน ชมิดท์ ที่เข้ารับหน้าที่ในนครย่างกุ้งเมื่อสองเดือนก่อน ยังเรียกร้องให้ฝ่ายบริหารของนางอองซานซูจี ทลายอุปสรรคขัดขวางระหว่างชุมชนชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่

ชมิดท์ กล่าวว่า การเดินทางกลับของผู้ลี้ภัยควรเป็นไปด้วยความสมัครใจ และการมีส่วนร่วมของหน่วยงานของสหประชาชาติในกระบวนการส่งกลับจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แม้ข้อตกลงแรกเริ่มระหว่างบังกลาเทศ และพม่าได้กล่าวถึงหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ แต่ยังไม่ระบุเจาะจงถึงบทบาทหน้าที่

ชมิดท์ กล่าวว่า พม่าต้องจัดการต้นตอของวิกฤตรัฐยะไข่ เช่น การเลือกปฏิบัติที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีต่อประชากรชาวโรฮิงญา ที่รวมทั้งการจำกัดการเคลื่อนไหว และการขาดการเข้าถึงการศึกษาที่เหมาะสม

“สิ่งสำคัญลำดับแรกสำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และรัฐบาล คือ การไม่เลือกปฏิบัติ และสิทธิที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน” ชมิดท์ กล่าวต่อรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ในนครย่างกุ้ง

“ยังมีต้นตอของปัญหาที่ต้องแก้ไขในรัฐยะไข่ เมื่อผู้ลี้ภัยเดินทางกลับพวกเขาจะต้องไม่กลับไปตกอยู่ในสถานการณ์ก่อนเกิดวิกฤต” ชมิดท์ กล่าว

การอพยพของชาวโรฮิงญาเกิดขึ้นจากการปราบปรามทางทหารที่ตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ชมิดท์ ระบุว่า การจำกัดชาวโรฮิงญาอยู่ในหมู่บ้าน และลดโอกาสทางการศึกษา อาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงบางอย่าง

“คุณไม่ควรแปลกใจที่ในเวลาต่อมา ประชากรบางส่วนหัวรุนแรงขึ้น” ชมิดท์ ระบุ

ท่ามกลางการปราบปรามทางทหาร หมู่บ้านโรฮิงญาจำนวนมากถูกเผาทำลาย และผู้ลี้ภัยได้บอกเล่ากับนักข่าวเกี่ยวกับการสังหาร และการข่มขืน สหประชาชาติ และสหรัฐฯ ต่างกล่าวหาพม่าว่าดำเนินการกวาดล้างชาติพันธุ์ ข้อหาที่ทางการพม่าปฏิเสธ

และในการตอบโต้ปฏิบัติการของทหาร สหภาพยุโรประงับการเชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย และเจ้าหน้าที่อาวุโสของกองทัพเดินทางเยือน

“เราพร้อมที่จะทบทวนการตัดสินใจดังกล่าวในทุกเมื่อหากได้รับข่าวดี หรือข่าวไม่ดี เราเข้าใจถึงความสำคัญของบทบาททหารในด้านเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยของพม่า ดังนั้น การเจรจาจึงยังเปิดกว้าง” ชมิดท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ยังมีความจำเป็นที่ต้องมีผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ และย้ำว่า สหภาพยุโรปสนับสนุนภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติที่ฝ่ายบริหารของซูจีคัดค้าน และขัดขวางจากการเข้าดำเนินการในประเทศ

“ยังมีความต้องการการสอบสวนที่เป็นอิสระ และเชื่อถือได้ในเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ผู้คนกว่า 620,000 คน ต้องอพยพยหลบหนีพร้อมกับสภาพอันเลวร้ายไปยังอีกฝั่งของพรมแดน เราจำเป็นต้องรู้” ชมิดท์ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น