xs
xsm
sm
md
lg

จีนบอก ผบ.กองทัพพม่าต้องการสานสัมพันธ์ทางทหารให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



รอยเตอร์ - จีนต้องการกระชับความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับทหารพม่า เพื่อช่วยปกป้องความมั่นคง และสันติภาพในภูมิภาค นายทหารระดับสูงของจีนกล่าว

จีนและพม่ามีความสัมพันธ์ทางการทูต และเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดมานานหลายปี รวมทั้งความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นในด้านน้ำมัน และก๊าซ และจีนได้ให้การสนับสนุนต่อพม่าตลอดช่วงวิกฤตชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปยังบังกลาเทศ ตั้งแต่ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบโรฮิงญาในเดือน ส.ค.

ในการพบหารือที่กรุงปักกิ่ง พล.อ.หลี่ ซั่วเฉิง ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการการทหารส่วนกลางซึ่งบังคับบัญชากองกำลังทหารของประเทศ กล่าวต่อ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ว่า การพัฒนาและความรุ่งเรืองของจีนเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการพัฒนาของพม่า คำแถลงของกระทรวงกลาโหมจีน ระบุ

“ในการเผชิญต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่มีความซับซ้อน และไม่แน่นอน จีนประสงค์ที่จะคงไว้ซึ่งการติดต่อสื่อสารทางยุทธศาสตร์ระหว่างทหารของสองประเทศ” พล.อ.หลี่ กล่าว

จีนต้องการการติดต่อระหว่างกองกำลังทหารของสองประเทศ การฝึกฝนอบรม และการแลกเปลี่ยนทางเทคนิคที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และส่งเสริมความร่วมมือด้านการป้องกันชายแดนเพื่อรับประกันสันติภาพ และความมั่นคงตามแนวพรมแดนร่วมกัน

จีนแสดงความไม่พอใจต่อการต่อสู้กันระหว่างทหารพม่า และกบฏชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่เรียกร้องการปกครองตนเองในบริเวณใกล้กับพรมแดนจีนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการต่อสู้ดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนต้องหลบหนีความรุนแรงเข้าไปในฝั่งจีน

จีนสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพลของพม่าในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารปกครองประเทศ และชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรพม่าจากการปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

และเมื่อไม่นานนี้ ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศยังหมายรวมถึงน้ำมัน และก๊าซ เนื่องจากพม่าส่งก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเบงกอล ให้แก่จีน ขณะที่ท่อส่งน้ำมันใหม่ที่เปิดใช้งานในปีนี้ ยังส่งน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางผ่านพม่า ไปยังโรงกลั่นแห่งใหม่ในมณฑลหยุนหนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนด้วย ซึ่งท่อส่งน้ำมันสายนี้กลายเป็นเส้นทางใหม่ในการจัดส่งน้ำมันสำหรับจีน ที่ช่วยเลี่ยงการขนส่งผ่านทางช่องแคบมะละกา และสิงคโปร์

สหรัฐฯ และชาติตะวันตกต่างๆ ได้เพิ่มการมีส่วนร่วมกับพม่านับตั้งแต่ทหารส่งมอบอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือนในปี 2554 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนางอองซานซูจี ชนะการเลือกตั้งในปี 2558 แต่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมกับพม่าของชาติตะวันตก ขณะเดียวกัน กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องการห้ามค้าอาวุธกับพม่า รวมทั้งกำหนดมาตรการลงโทษทางการเงินต่อเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงของพม่า

ด้านกระทรวงกลาโหมของจีน อ้างคำกล่าวของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ว่า ได้กล่าวขอบคุณจีนสำหรับการสนับสนุนในการช่วยเหลือพม่ารักษาความมั่นคงภายในประเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น