MGRออนไลน์ -- ชุดประจำชาติของสาวงามชาวลาว ที่สวมขึ้นประกวด หรือ กำลังจะนำออกแสดงบนเวทีประกวดต่างๆ ในต่างแดน กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหูจาก ชาวลาวจำนวนมาก ที่บอกว่า ไม่เหมาะสม ไม่สะท้อนการเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติ หรือ แม้กระทั่ง "ไม่ใช่เครื่องแต่งกาย" หรือ ไม่ใช่ภูษาอาภรณ์สำหรับหญิงสาว บ้างก็บอกว่า เป็นชุดที่เน้นสัญลักษณ์ มากกว่าความสวยงามทางวัฒนธรรม -- กับอีกสารพัด ถึงแม้ผู้ออกแบบบางราย จะออกปากยอมรับว่า ไม่สามารถทำออกมา สนองความชอบของผู้คนในสังคมได้ทั้งหมดก็ตาม
แน่นอน -- การวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้ สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ ในปีแรกที่มีการ "ส่งออก" สาวงามจาก สปป.ลาว ไปร่วมการประกวดความงามในระดับโลก เกือบจะครบถ้วน ตั้งแต่เวทีใหญ่ทั้งสาม จนถึงเวทีเล็ก รวมทั้งเวทีเกิดใหม่หลายแห่ง -- ตั้งแต่มิสเวิลดิ์ มิสยูนิเวิร์ส มิสอินเตอร์เนชั่นแนล จนถึงมิสโกลบอล และ มิสโกลบ (Miss Globe) ที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศต่างๆ ขณะนี้ และ ยังจะตามมาอีกมากมาย
สัปดาห์นี้ เสียงวิจารณ์จากสังคมผ่านโลกออนไลน์ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของชาวเมือง ได้ทำให้ผู้รับผิดชอบการออกแบบ ต้องเปลี่ยนเป็นชุดประจำชาติ ชุดใหม่ให้แก่ สุพาพอน สมวิจิต มิสยูนิเวิร์สลาว -- หรือ แสดงให้เห็นว่ากำลังจะมีการปรับเปลี่ยน
ผู้คนพูดกันหนาหูว่า ชุดสำหรับมิสยูนิเวิร์สเป็นชุดที่รุงรังดูรกนัยน์ตา ขาดความสวยงาม -- มีการนำชุดใหม่ออกอวดไม่กี่วันมานี้ แต่กระนั้นหลายคนก็ยังมองว่า ขาดความสมประกอบอยู่ดี -- เปลี่ยนจากเกล้ามวยผมสูงไว้ข้างบน -- แต่ให้ "น้องนุ้ย" แบกพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ องค์จำลอง ไปประกวดความงาม บนเวทีใหญ่อันดับ 2 ของโลก ซึ่งเริ่มขึ้นแล้วในลาสเวกัส รัฐเนวาดา สหรัฐ
ผู้คนถามคำถามเกือบจะเป็นคำถามเดียวกันว่า -- จำเป็นอะไร ต้องแบกพระธาตุหลวงไปด้วย?
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุดประจำชาติที่ "น้องเมย์" วริศรา ตั้งสุวรรณ สวมขึ้นเวทีมิสโกลบอล (Miss Global 2017) ในกรุงพนมเปญ กัมพูชา ก็สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน ทั้งในหมู่ชาวลาวและชาวเขมร เจ้าภาพ
ชุดเจ้าแม่นาคี (ເຈົ້າແມ່ນາຄີ) หรือ นางพญานาคี ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ນາຄາມະນີວາລີນິມິດ (นาคาวารีนิมิต) หรือ "อัญมณีแห่งแม่น้ำโขง" (Jewel of Mekong) เป็นชุดสวยและแปลกตา ทำให้ชาวลาวจำนวนมากต่างภาคภูมิใจ ซ้ำยังเป็นงานแฮนด์เมค ซึ่งว่ากันว่าต้องใช้เวลา 20 วัน ในการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เข้าเป็นเครื่องแต่งกายอันวิจิตร สะท้อนตำนานแห่งแม่น้ำโขง อันเป็นความเชื่อที่มีมายาวนาน ในหมู่ผู้คนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนานาชาติสายยาวนี้
.
.
ที่ฮือฮากันมากที่สุดเห็นจะเป็น ส่วนหางของนางพญานาคี ซึ่งเมื่อปล่อยเหยียดตรงออกไป จะยาวกว่า 4 เมตร และ แม้ว่าจะถูกออกแบบ ให้แยกออกจากส่วนลำตัวได้ แต่ในยามที่ต้องสวมขึ้นเวทีนั้น สาวงามจะต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง -- ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่หญิงสาวทั่วไป จะสามารถเดินลากหางที่มีน้ำหนัก และ ยาวขนาดนั้น ให้เลื้อยไปไก้สมจริง ในขณะที่มืออีกข้างหนึ่ง จะต้องชูลูกแก้วของนางพญาไปด้วย
แต่โชคดีที่ "หมวยเมย์" เป็นนางงามที่มีประสบการณ์ -- นี่คือ สาวงามคนแรกจาก สปป.ลาว ที่ออกประกวดในต่างแดน อย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะไปด้วยตัวเองก็ตาม ซ้ำยังคว้ารางวัลกลับบ้านได้อีกด้วย
น้องเมย์ได้เป็นสาวงามมิตรภาพ (Miss Friendship) จากเวที Miss Tourism Queen of the Year International 2016 ในนครเซี่ยงไฮ้ เดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว -- เป็นรางวัลแรกจากการประกวดครั้งแรกของเธอ -- ต่อมาในเดือน พ.ค.ปีนี้ หมวยเมย์ ก็ไปร่วมประกวด Miss Chinese World 2017 ในมาเลเซียอีกแห่งหนึ่ง
ชุดนางพญานาคี เปิดตัวตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค.ที่แล้ว ซึ่งสร้างความตื่นตาแปลกใจให้แก่วงการอย่างมาก ตัดเย็บด้วยแพรพรรณ ที่ประกอบด้วยลายฉลุงดงาม คู่กับหมวกเศียรพญานาค 7 เศียร ถึงกระนั้นชุดแสนสวย ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมออนไลน์ ว่ามองดูโดยรวมแล้ว ไม่ได้เป็นตัวแทน ทางวัฒนธรรมของชนชาติ จนกระทั่งไม่อาจเรียกเป็น "ชุดประจำชาติ" ได้ -- เป็นเรื่องของอารมณ์กับความรู้สึกล้วนๆ
น้องเมย์เป็นสาวเวียงจันทน์ เป็นเจ้าของธุรกิจส่วนตัว และ เป็นมหาบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจจากจีน เธอพูดได้ 3 ภาษา รวมทั้งภาษาอังกฤษ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งบนเวทีต่างแดน -- หมวยเมย์ยังไม่เคยได้ออกประกวดอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการเดินทางไปด้วยตัวเองทุกครั้ง โดยการสนับสนุนจากสปอนเซอร์ ซึ่งรวมทั้งเวทีมิสโกลบอล 2017 ปีนี้ด้วย
เสียงวิจารณ์เกี่ยวกับชุดนางงาม เริ่มดังขึ้นปลายเดือนที่แล้ว เมื่อ จินนะลี นอละสิง (ภาพ 19,20) แบกชุดจำลองพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ไปขึ้นเวทีมิสแกรนด์อินเตอร์เนชั่นแนล 2017 ที่เกาะฟุก๊วก ทะเลอ่าวไทยเวียดนาม -- แม้ว่าจะออกแบบได้สวยงามวิจิตรพิสดาร ไม่แพ้ชุดของสาวงามชาติใด แต่หลายเสียงบอกว่า ชุดของน้องฟ้าใส ไม่ได้สะท้อนชุดสวย ที่บรรดาแม่หญิงสาวสวมใส่จริง ในชีวิตประจำวัน และ ไม่มีความจำเป็นอะไร ต้องแบกพระธาตุหลวงเวียงจันทน์ ไปขึ้นเวที
พอข้าวเดือนัดมา ชุดประจำชาติของมิสยูนิเวิร์สลาว ก็ถูกสังคมวิจารณ์ ด้วยประเด็นเดียวกัน
.
2
3
4
5
6
7
อย่างไรก็ตาม -- แม้จะไม่ได้รับรางวัลอะไรกลับบ้าน แต่ประวัติศาสตร์ต้องบันทึกเอาไว้ว่า จินนะลีเป็นแม่หญิงลาวคนแรก ที่ออกไปเปิดความสวยความงามแห่งเรือนร่าง สู่สายตาชาวโลก โดยผ่านการประกวดอย่างเป็นทางการในระดับชาติ ไม่ต่างกับการประกวดมิสลาว หรือ นาวสาวลาว ทุกปีที่ผ่านมา
ไม่กี่วันมานี้ นิตยสาร "มหาชน" ได้สะท้อนความเห็นของสังคม ผ่านเว็บไซต์ว่า "ເບິ່ງຈາກຫາງສຽງມວນຊົນແລ້ວ ແມ່ນມັກຊຸດລາວແບບດັ່ງເດີມເພາະຄົນລາວ ແນວໃດກໍຍັງຄົງແມ່ນຄົນລາວ.." -- คือ มติของประชาชนจำนวนมาก ชอบที่จะเห็นหญิงสาวชาวลาว สวมชุดวัฒนธรรมแบบเดิมๆ -- ที่ประกอบด้วย สวมชุดสวยนุ่งผ้าซิ่น คาดสไบเฉียง มากกว่า -- เพราะไม่ว่าจะไปปรากฏตัวอยู่ที่ไหน "ถึงยังไง ก็ยังเป็นคนลาว"
ชาวออนไลน์หลายคน ชี้ให้นักออกแบบดูชุดประจำชาติ ที่ "น้องใต้" สุกัญญา สมุทร สาวงามจากประเทศไทย ใส่ขึ้นเวทีมิสโกลบอล 25017 ในกรุงพนมเปญ เมื่อไม่กี่วันมานี้่ ซึ่งสะท้อนความเป็นไทยได้ทุกกระเบียด ออกแบบได้แนบเนียน งามวิจิตร โดยไม่ต้องแบกหามสัญลักษณ์ใดของประเทศไทยไปด้วย
เริ่มมีเสียงวิจารณ์หนาหูเช่นกัน เกี่ยวกับชุดสวยที่พูนซับ พนโยทา นางแบบสาวสวยชาวนครเวียงจันทน์อีกคนหนึ่ง กำลังจะสวมขึ้นเวที Miss International 2017 ในประเทศญี่ปุ่น ไม่กี่วันข้างหน้า -- เป็นชุดลาวประยุกต์ที่สวยงาม แต่สาวงามต้องแบกแคนเสียบดอกจำปา จำนวน 9 เลา ไว้ด้านหลัง แถมมีกระติ๊บข้าวห้อยต่องแต่ง ทางด้านหน้า ด้านข้าง อีกหลายใบ
ชาวออนไลน์ถามว่า จำเป็นอะไรที่จะต้องพ่วงอุปกรณ์เหล่านั้น เข้าไปในชุดนางงามด้วย -- แม้ว่า ทั้งแคน ดอกไม้ประจำชาติ และ กระติ๊บข้าว จะบ่งบอกความเป็นชนชาติหนึ่ง ได้ดีเพียงไรก็ตาม -- นอกจากนั้นการออกแบบก็ดู "ดิบ" และ "โฉ่งฉ่าง" เกินไป -- บางคนพูดเลยไปไกลถึงขนาดว่า เป็นภูษาอาภรณ์ที่ "ไร้ศิลปะ" ในองค์ประกอบรวม
แต่ในขณะเดียวกัน ชาวออนไลน์จำนวนมาก กำลังรอชื่นชมชุดประจำชาติ ที่ "น้องเจนนี" ต้นคำ วงจันเฮือง จะสวมขึ้นเวที Miss World 2017 ที่เมืองซันหยา เกาะไหหลำ ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้่ -- หลายคนชมว่า เป็นชุดประจำชาติที่เรียบง่าย แต่วิจิตรบรรจง -- และ หลายเสียงชมว่า สะท้อนชุดสวยในชีวิตจริงของแม่หญิงลาวได้เป็นอย่างดี.
.
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20