xs
xsm
sm
md
lg

กลุ่มสิทธิมนุษยชนร้องพม่าสอบเข้มคดีฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวสิทธิที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพแฟ้มเอเอฟพีเมื่อเดือนมิ.ย.2560 เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนบ้านในย่านสลัมขนาดใหญ่ชานนครย่างกุ้ง ที่สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านที่ถูกบังคับไล่ที่ ปัญหาการเข้ายึดที่ดินทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากความต้องการที่ดินเพิ่มสูงและการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.

รอยเตอร์ - กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ทางการพม่าดำเนินการสืบสวนโดยละเอียดต่อเหตุฆาตกรรมนักเคลื่อนไหวรณรงค์สิทธิที่ดินในพม่า และเพิ่มการคุ้มครองผู้พิทักษ์สิทธิที่ดินให้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางข้อพิพาทขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินที่ขยายตัวสูง

เต อ่อง นักเคลื่อนไหวที่ช่วยเหลือชาวบ้านเรียกคืนที่ดินที่ถูกยึด ถูกกลุ่มม็อบราว 20 คน เข้าทำร้ายในรัฐชาน ตามการเปิดเผยของกลุ่มสิทธิมนุษยชน และรายงานในสื่อท้องถิ่น และเต อ่อง ได้เสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บเมื่อวันที่ 1 พ.ย.

สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ระบุว่า ตำรวจกำลังดำเนินการสอบสวนเหตุที่เกิดขึ้น มีคนถูกจับกุมตัว 3 คน แต่ถูกปล่อยตัวในเวลาต่อมา

FIDH เรียกร้องให้ทางการพม่าดำเนินการสอบสวนเหตุฆาตกรรมดังกล่าวโดยละเอียด โปร่งใส และเป็นกลาง ไม่ใช้เวลาล่าช้าจนเกินไป และนำตัวผู้รับผิดชอบมาดำเนินคดี

คำแถลงของ FIDH ยังระบุว่า เจ้าหน้าที่ต้องใช้มาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับประกันว่าผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับความคุ้มครอง รวมถึงผู้ปกป้องสิทธิที่ดินให้พ้นจากการโจมตีรุนแรงเช่นนี้

ประชากรชาวพม่าร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท และพึ่งพาการเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ แต่มีเกษตรกรเพียงไม่กี่รายที่มีเอกสารอย่างเป็นทางการสำหรับที่ดินของตัวเอง และแม้จะมีโฉนด ก็ไม่ได้หมายถึงการได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอ

ข้อพิพาทขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินขยายตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่พม่าคลายมาตรการทางเศรษฐกิจ และการเมืองหลังปี 2554 ที่นำมาสู่การลงทุนจากต่างชาติอย่างมากมาย และความต้องการที่ดินเพิ่มสูงเพื่อการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกล่าวว่า โครงการต่างๆ เหล่านี้ รวมทั้งการทำเหมือง เขื่อนไฟฟ้า และโครงการทางการเกษตรขนาดใหญ่มีความสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศที่เป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดของโลก

ในปี 2555 พม่าประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้เกษตรกรได้ใบอนุญาตใช้งานที่ดินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความมั่นคงยิ่งขึ้น แต่ 4 ปีต่อมา รัฐบาลได้ประกาศใช้นโนบายการใช้ที่ดินแห่งชาติ และกลไกในการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้ง

แม้ทางการพม่าจะดำเนินการปฏิรูป แต่ข้อตกลงที่ดินมักประสบต่อปัญหาการขาดการปรึกษาหารือ และการได้รับความเห็นชอบยินยอมจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบ การชดเชยที่ไม่เพียงพอ การขาดนโยบายการตั้งถิ่นฐานใหม่ และการเยียวยาทางกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการจับกุมตัวและการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วง และนักเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น

FIDH ระบุว่า พม่าอาจเผชิญต่อการแพร่ระบาดของความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดิน จนกว่าพม่าจะมีกฎหมาย และนโยบายที่จัดการต่อปัญหาสิทธิที่ดินเหล่านี้

ในปีที่ผ่านมา มีผู้ปกป้องสิทธิที่ดิน และสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 2 ราย ถูกฆาตกรรมในพม่า ตามการระบุของ Global Witness

“รัฐบาลพม่าต้องดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระ และละเอียดถี่ถ้วนต่อการฆาตกรรม เต อ่อง เพื่อรับประกันว่า ผู้กระทำผิดจะถูกนำตัวมาดำเนินคดี” เจ้าหน้าที่ของ Global Witness กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น