MGRออนไลน์ -- เหมืองทองใหญ่ที่สุด 2 แห่งในลาว คือ เหมืองเซโปน ในแขวงสะหวันนะเขต กับเหมืองภูเบี้ย ในแขวงไซสมบูน กำลังจะปิดลงในปี 2563-2564 นี้ เนื่องจากธาตุทองคำ กับทองแดง ร่อยหรอลง ซึ่งจะทำให้รายได้ส่วนที่เข้ารัฐ เริ่มลดลงเรื่อยๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ เปิดเผยเรื่องนี้ระหว่างการประชุมสภาแห่งชาติ ในนครเวียงจันทน์สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในช่วง 10 ปี 2548-2558 รัฐบาลลาวมีรายได้จากแขนงอุตสาหกรรมเหมือง เข้างบประมาณรวมกันราว 1,890 ล้านดอลลาร์ หรือ 67,000 ล้านบาทเศษ ทั้งหมดเป็นรายได้จากการจัดเก็นค่าภาคหลวง กับรายได้จากภาษีเงินได้ และ อื่นๆ จากบริษัทที่ได้รับสัมปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ รายได้จากเหมืองทอง-ทองแดงใหญ่ที่สุด ทั้่งสองแห่ง
นายคำมะนี อินทิลาด รมว.พลังงานฯ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นมา รัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้เปิดกว้างการลงทุนแขนงนี้ มีการอนุมัติให้นักลงทุน ทั้งในและต่างประเทศ เข้าสำรวจขุดค้น นำแร่ธาตุขึ้นมาใช้ประโยชน์ จนถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 229 บริษัทใหญ่น้อย ที่ดำเนินกิจกรรมขั้นตอนต่างๆ ในอุตสาหกรรมแขนงนี้
ปัจจุบันมี 81 บริษัทกำลังขุดค้นและผลิต แร่ธาตุชนิดต่างๆ -- อีก 96 บริษัท กำลังอยู่ในขั้นตอนสำรวจ และ 52 บริษัท กำลังศึกษาความเป็นได้ทั้งทางเศรษฐกิจและทางเทคนิค -- แร่ธาตุที่เข้าสู่ขั้นตอนการผลิตในปัจจุบัน รวมทั้งทองคำ เงิน ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี บอกไซต์ ถ่านหิน ยิบซั่ม หินปูน โปรแทช และ อื่นๆ -- นอกจากนั้นทางการในระดับแขวง ยังอนุญาตโครงการผลิตแร่ขนาดเล็ก รวมเป็นจำนวน 443 บริษัท ที่กำลังขุดค้นแร่ธาตุ 21 ชนิด อยู่ในขณะนี้ หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจ-การค้า รายงานอ้าง ดร.คำมะนี
ปี 2554-2555 นับเป็นปีที่โดดเด่นที่สุด รัฐมีรายได้จากอุตสาหกรรมเหมืองรวม 292 ล้านดอลลาร์ กับ 293.6 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ -- แต่รายได้เข้ารัฐลดลงเหลือเพียง 136 ล้านดอลลาร์เศษ ในช่วงปี 2558 และ 2559 -- คาดว่านับแต่นี้จะเริ่มลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากแร่ธาตุที่ผลิตได้เริ่มลดน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหมืองทองใหญ่ทั้งสองแห่ง กำลังจะปิดลง
.
.
ต้นปี 2557 เหมืองเซโปน โดยบริษัทเหมืองเอ็มเอ็มจีล้านช้าง จำกัด (MMG Lane Xang Mining Ltd) ประกาศปลดคนงานชาวลาว จำนวน 360 คน นักวิชาการชาวต่างชาติอีก 60 นาย รวมเป็นกว่า 400 ตำแหน่งออกจากงาน หลังจากได้หยุดการผลิตทองคำตั้งแต่เดือน ธ.ค.ปีก่อนหน้านั้น แม้ว่าจะยังผลิตทองแดงต่อไปก็ตาม -- เรื่องนี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ ที่ได้รับความสนใจจากสังคมไม่น้อย มีคนเป็นจำนวนมากแสดงความขับข้องใจต่อ ชะตากรรมของประชาชนเจ้าของประเทศ ผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรณ์อย่างแท้จริง
เหมืองเซโปนเคยเป็นเหมืองแร่ใหญ่ที่สุดในลาว และ เมื่อครั้งยังเป็นของกลุ่มอ็อกเซียนา (Oxiana Minerals หรือ OZ Minerals ในปัจจุบัน) แห่งออสเตรเลีย ได้เคยว่าจ้างแรงงานถึง 5,000 คน ประมาณ 90% เป็นชาวลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในท้องถิ่น ที่อาศัยอยู่ในย่านรอบๆ เหมือง -- MMG LXML ซึ่งเป็นเจ้าของรายใหม่ กล่าวในเว็บไซต์ของบริษัทเมื่อปี 2547 ว่า แต่ละปีต้องจ่ายเงินราว 7 ล้านดอลลาร์ เพื่อการฝึกอบรมและพัฒนาทรัพยากรบุคคล
.
.
ตามรายงานของสื่อทางการลาว เมืองเซโปนเริ่มลดการผลิตทองลงเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และ หันไปเน้นการผลิตทองแดง ในรูปแผ่นธาตุทองแดง (Copper Cathode) ชนิด 99.90% แต่ความผันผวนของราคาในตลาดโลก ส่งผลกระทบถึงรายได้รวมของบริษัท และ ส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของรัฐ
การลดการผลิตของเหมืองเซโปน โดยกลุ่มมินเมทัล (MINMETAL) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติจีน ได้ทำให้กลุ่มแพนออสต์ (PanAust) ขยับขึ้นมาเป็น ผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ที่สุดใน สปป.ลาว ซึ่งในต้นปี 2557 บริษัทออสเตรเลีย ได้ประกาศเพิ่มการผลิตแร่ทองคำ จากเหมืองสองแห่งภายใต้สัมปทาน คือ เหมืองภูคำ กับเหมืองบ้านห้วยทราย ให้ได้อีก 4.5 ล้านตัน เป็นอย่างน้อย เท่าๆ กับปริมาณที่ผลิตได้ก่อนหน้า
บริษัทแพนออสต์ลาวถือหุ้นใหญ่ 90% ในบริษัทเหมืองภูเบี้ย (Phu Bia Mining Co) ซึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่สำรวจ และขุดค้นแร่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมแขวงเวียงจันทน์ เชียงขวาง กับแขวงใหม่ล่าสุด คือ แขวงไซสมบูน -- เมื่อเหมืองภูเบี้ยปิดลงในอีก 3-4 ปีข้างหน้า การผลิตทองคำออกสู่ตลาดโลก ก็จะยังดำเนินต่อไป ที่เหมืองภูคำกับเหมืองห้วยทราย ที่อยู่ในแขวงไซสมบูนเช่นเดียวกัน
สปป.ลาว ยังมีแหล่งทองคำอีกหลายแหล่ง ที่อยู่ระหว่งการสำรวจ -- ทางการแขวงอัตตะปือประกาศ ระหวางการประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาว เมื่อต้นปีที่แล้ว เกี่ยวกับการค้นพบแหล่งทองคำมหึมา ในแขวงภาคใต้ และ รัฐบาลยังไม่มีนโยบายจะเปิดให้บริษัทเอกชนรายใด เข้าสัมปทานขุดค้นอีกในขณะนี้.