MGRออนไลน์ -- ทางการลาวเพิ่งทำพิธีสูตรสมโภชพระพุทธรูปองค์หนึ่ง ในช่วงข้ามสัปดาห์ผ่านมานี้ และ ต่างๆจากพระพุทธรูปโลหะองค์อื่นๆ ที่หล่อขึ้นมาอย่างเป็นทางการในยุคใหม่ พระพุทธรูปองค์ใหม่ล่าสุด หล่อขึ้นจากทองคำแท้ทั้งองค์ และ ยังเป็นองค์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่สาธารณชนเคยรู้จัก นับตั้งแต่ "พระแซกคำ" อันเก่าแก่ -- องค์ที่มีหน้าตักกว้างกว่า ซึ่งฝ่ายสยามอัญเชิญจากกรุงจันทะบูลีสีสัดตะนาคะนะหุต มาประดิษฐานไว้ ในกรุงรัตนโกสินทร์ฯ ปี พ.ศ.2103 หรือ เมื่อเกือบ 460 ปีก่อน
ภาพที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของของลาว ในช่วงข้ามสัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็นพระพุทธรูป สีเหลืองทองสดใสทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่บนแท่นประทับ ภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์พระธาตุหลวง เพื่อให้สาธารณชนได้เข้าชมและบูชา -- ซ่ึงจะเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการทำพิธี ยกยอดพระเจดีย์พระธาตุเก่าแก่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวลาว ในเดือน ต.ค.2559 -- นั่นคือ ผ่านมาเป็นเวลา 1 ปีพอดี -- ซึ่งครั้งนั้นมีการประกาศว่า ทองที่เหลือจากการหล่อยอดพระเจดีย์ ในพิพิธภัณฑ์พระธาตุหลวง จะนำไปหล่อพระพุทธรูป เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 450 การก่อตั้งกรุงเวียงจันทน์ในช่วงเวลาขณะนี้
นี่คือ พระสุวันนะสัดทาทำมิกะราด (พระสุวรรณศรัทธาธรรมิกราช) ที่หล่อขึ้น เพื่อสืบสานพระราชประเพณี ตามประวัติศาสตร์เมื่อ 457 ปีก่อน ซึ่งพระเจ้าไซเสดถาทิลาดมหาราช ทรงย้ายศูนย์กลางปกครอง ของราชอาณารักล้านช้าง จากเมืองหลวงพระบาง ลงไปทางใต้ และ โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้ง ວຽງຈັນທະບູລີ ສີສັດຕະນາຄະນະຫຸດ ອຸດຕະມະຣາຊະທານີ ສີສຸທຳມະວິສຸດພິເສກ ນະຄະເລດພູມິນ ສິນນະສີຊະດານ ສຸວັນນະເກດປານະຄະເລດ ມະເຫສາວັກພຣະນະຄອນ (เวียงจันทะบูลี สีสัดตะนาคะนะหุต อุดตะมะราชะทานี สีสุทำมะวิสุดพิเสก นะคะเรดพูมิน สินนะสีสะดาน สุวันนะเกดปานะคะเลด มะเหสาวักพระนะคอน) ซึ่งก็คือ นครเวียงจันทน์ในวันนี้
พิธีสูตรสมโภชพระพุทธรูปทองคำ และ ยอดจอมพระธาตุหลวง ยอดจอมพระธาตุรองอีก 2 องค์ กับ ยอดจอมพระธาตุปาระมี หรือ พระธาตุขนาดเล็ก ที่รายรอบอยู่อีก 30 องค์ จัดขึ้นภายในกมมะเลียน (หรือ ระเบียงคด) ในบริเวณพระธาตุหลวง นายสุริอุดง สุนดารา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เขียนในเฟซบุ๊ก บรรยายเกี่ยวกับพิธีที่ เมื่อวันศุกร์ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา
"ພາກພູມໃຈ ແລະ ໂມທະນາສາທຸການຮ່ວມງານສູດສົມໂພດ ພຣະພຸດທະຮູບຄຳບໍລິສຸດ (ພຣະສຸວັນນະສັດທາທັມ) ແລະ ຈອມຄຳພຣະທາດຫຼວງວຽງຈັນ" ดร.สุริอุดง เขียนในตอนหนึ่ง
.
ตามข้อมูลเมื่อครั้งทำพิธีหล่อ พระพุทธรูปทองคำ หล่อด้วยทองบริสุทธิ์รวมน้ำหนัก 9 กิโลกรัม กับอีก 28.4 บาท 1 สลึง 3.8 หุน กับอีก 2.72 กรัม เป็นทองที่สะสมจากการบริจาคของทั่วทั้งสังคม สมทบโครงการหล่อยอดจอมพระธาตุหลวง กับพระธาตุองค์อื่นๆ ที่ดำเนินมาแต่ปีที่แล้ว ทองที่เหลือถูกนำไปจัดสร้างพระพุทธรูปสุวันนะสัดทาทำมิกะราด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ คู่การบูรณปฏิสังขรณ์พิพิธภัณฑ์พระธาตุหลวง -- ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 -- กับงานฉลองสมโภชครบรอบปีที่ 450 การก่อตั้งกรุงเวียงจันทน์ เมื่อปี 2559
พระสุวันนะสัดทาทำมิกะราด เป็นพระพุทธรูปประทับขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หรือ ปางชนะมาร เช่นเดียวกันกับพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ส่วนใหญ่ ที่จัดสร้างหรือหล่อขึ้นมา ในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมทั้งพระสุก พระเสิม พระไส และ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่สังคมรู้จักดีที่สุด -- พระพุทธรูปทองคำ ยังหล่อขึ้นเพื่อ "ສືບສານມູນເຊື້ອວັດທະນະທຳ ພຸດທະສິນໃນຍຸກອານາຈັກລາວລ້ານຊ້າງສະໄໝ ເຈົ້າໄຊຍະເຊດຖາທິລາດ ແລະ ເຈົ້າສຸລິຍະວົງສາ" นั่นคือ การดำรงพุทธลักษณ์ ของพระพุทธรูปยุคล้านช้าง เพียงสร้างขึ้นมาในยุคใหม่
พิธีหล่อพระสุวันนะสัดทาทำมิกะราด จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. ที่บริเวณพระธาตุหลวง โดย พล.ต.อาซาง ลาวลี อดีต รองนายกรัฐมนตรี และ อดีตกรมการเมืองอาวุโส พรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นประธาน
ด้วยหน้าตักกว้าง 29 เซ็นติเมตร (เกือบ 1 ฟุต) สูง 42 ซม. ประดิษฐานบนพระแท่น ที่หุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์ ติดทองคำเปลวแท้ 100% ที่มีความสูง 35 ซม. มีฐานชั้นบนกว้าง 33 ซม. และ ชั้นล่างสุด 48 ซม. ได้ทำให้พระสุวันนะสัดทาทำมิกะราด เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่ที่สุด ที่จัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการในยุคใหม่ นับตั้งแต่พระแซก หรือ "พระแซกคำ" ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทองคำแท้ขนาดใหญ่ เพียงองค์เดียว เท่าที่มีการบันทึกไว้ก่อนหน้านี้
.
.
พระแซกมีหน้าตักกว้าง 18 นิ้ว (1 ฟุตกับ 6 นิ้ว) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เช่นเดียวกัน -- ข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุว่ามีพุทธลักษณ์ของพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนยุคปลาย ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด หล่อในสมัยใด หรือ ใครเป็นผู้จัดสร้าง -- นอกจากเรื่องราวที่เป็นตำนานเท่านั้น -- แต่เดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ เมื่อพระเจ้าไซเสดถาทิลาด เสด็จฯ ไปประทับยังเมืองหลวงพระบาง ได้อัญเชิญพระแซกลับไปด้วย -- พร้อมกับพระแก้วมรกต
เมื่อเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เสร็จการศึกกรุงเวียงจันทน์ปี พ.ศ.2369 ได้อัญเชิญพระแซก มายังกรุงรัตนโกสินทร์ และ ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดคฤหบดี และ เป็นพระประธานที่วัดแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน
ไม่มีบันทึกเอาไว้ว่า ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ 3 ครั้งก่อนหน้านี้ -- เคยมีการหล่อพระพุทธรูปทองคำ เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึก เช่นในครั้งนี้ และ ไม่มีข้อมูลใดๆ ที่บ่งบอกว่า ใน สปป.ลาวปัจจุบัน มีพระพุทธรูปที่หล่อจากทองคำแท้ 100% องค์อื่นใด มีขนาดใหญ่กว่า หรือ มีหน้าตักกว้างกว่า พระแซก กับ พระสุวันนะสัดทาทำมิกะราด
รัฐมนตรีลาวกล่าวว่า พระพุทธรูปทองคำ ประดิษฐานอยู่ในตู้นิรภัยพิเศษ ภายในพิพิธภัณฑ์พระธาตุหลวง และ เปิดให้สาธารณชนเข้าชม ในช่วงงานบุญประจำปี ทีเริ่มขึ้นแล้ว ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พร้อมกับการประกาศปีแห่งการท่องเที่ยวลาว 2018.