xs
xsm
sm
md
lg

ชาวยะไข่ชุมนุมขวางจนท.บรรเทาทุกข์ส่งความช่วยเหลือชาวมุสลิมในค่ายพลัดถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้หญิงและเด็กชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศอันเนื่องจากเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่. -- Reuters/Minzayar.

รอยเตอร์ - ชาวพุทธในพม่าเข้าขัดขวางเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ไม่ให้เข้าเยี่ยมค่ายผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมในพื้นที่ตอนกลางของรัฐยะไข่ ท่ามกลางความวิตกของสหประชาชาติว่าความรุนแรงอาจขยายวงกว้างมากขึ้น

ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญามากกว่า 600,000 คน ได้ข้ามเขตแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค. หลังเกิดเหตุกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาโจมตีด่านตำรวจ ที่ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างรุนแรง จนเกิดข้อกล่าวหากองกำลังรักษาความมั่นคงก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และวางเพลิง

สหประชาชาติเรียกปฏิบัติการทางทหารที่เกิดขึ้นว่าเป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์ ซึ่งทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหา และระบุว่าพม่าจะยอมรับผู้ลี้ภัยกลับประเทศเฉพาะผู้ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นพลเมืองของพม่า

เจ้าหน้าที่บริหารท้องถิ่นและนักเคลื่อนไหวกล่าวกับรอยเตอร์ว่า กลุ่มชาวพม่าประมาณ 10 คน ที่ทำงานให้กับองค์กรการกุศล Relief International (R.I.) ที่มีสำนักงานทั้งในสหรัฐฯและอังกฤษ จำต้องถอยกลับเมื่อชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธยะไข่ชุมนุมประท้วงในเมืองมะเยบอน

รอยเตอร์รายงานในเดือนนี้ว่า นักเคลื่อนไหวในเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธได้เพิ่มความพยายามที่จะแบ่งแยกชาวพุทธและมุสลิม เช่น การสั่งห้ามชาวยะไข่ค้าขายกับชาวมุสลิม

การจัดส่งความช่วยเหลือด้านอาหารไปยังชาวมุสลิมในเมืองมะเยบอนต้องล่าช้า และจะได้รับอนุญาตก็ต่อเมื่อตัวแทนชุมชนชาวพุทธเข้าตรวจสอบ

“กลุ่ม R.I. พยายามจะเดินทางไปที่ค่าย และชาวบ้านได้เข้าขัดขวาง” ติน ฉ่วย เจ้าหน้าที่บริหารเมือง กล่าว พร้อมเสริมว่าเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้เดินทางกลับไปที่สำนักงานของตัวเองหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ผู้อำนวยการ Relief International (R.I.) ในพม่า ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

ผู้นำชุมชนชาวพุทธยะไข่ไม่พอใจหน่วยงานต่างชาติและเอ็นจีโอที่พวกเขากล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือเอื้อเฟื้อแต่ชาวโรฮิงญา

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์และเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวกับรอยเตอร์ว่า พวกเขาวิตกว่าการบังคับแบ่งแยกชาวพุทธและมุสลิมอาจก่อให้เกิดผู้พลัดถิ่นเพิ่มขึ้นอีก ทั้งจากความรุนแรงระลอกใหม่หรือการหลบหนีของชาวมุสลิมเอง

เหตุการณ์ในวันนี้ (25) เป็นตัวอย่างล่าสุดของอุปสรรคนานัปการที่องค์กรด้านมนุษยธรรมประสบในรัฐยะไข่ ปิแอร์ เปรอง โฆษกสำนักงานผู้ประสานงานกิจการด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ กล่าว

ชาวมุสลิมราว 3,000 คน รวมทั้งโรฮิงญาและผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองพม่า ถูกกักอยู่ในค่ายสำหรับผู้พลัดถิ่นในเมืองมะเยบอนตั้งแต่ครั้งที่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในรัฐยะไข่เมื่อปี 2555

ภาพถ่ายที่ถูกโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊กเผยให้เห็นผู้หญิงมากกว่า 20 คน นั่งขวางถนนเส้นเล็กๆ โดยมีกลุ่มชายซึ่งมีจำนวนน้อยกว่ายืนอยู่ด้านหลัง

ขิ่น เต็ง ผู้นำเครือข่ายสตรีอาระกันในเมืองมะเยบอน กล่าวว่า กลุ่มของเธอเข้าร่วมการประท้วง หลังเจ้าหน้าที่บอกชุมชนว่าเอ็นจีโอจะจัดหาการศึกษาและสุขอนามัยให้กับชาวมุสลิม

“พวกเขามีทั้งอาหาร มีที่พักพิง เราไม่สามารถยอมรับสิ่งที่เกินขอบเขตเหล่านี้ได้ เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาผ่านเมืองของเราไป เราเคยประท้วงมาแล้วหลายครั้ง พวกเราไม่ไว้ใจคนต่างชาติ” ขิ่น เต็ง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น