xs
xsm
sm
md
lg

ฮิวแมนไรท์วอทช์ชี้พม่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ร้องสหประชาชาติคว่ำบาตร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ชาวโรฮิงญาขนข้าวของหลบหนีความรุนแรงในพม่ามุ่งหน้าไปบังกลาเทศ. -- Reuters/Danish Siddiqui.

รอยเตอร์ - ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า พม่ากำลังก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติในการปราบปรามผู้ก่อการร้ายมุสลิมในรัฐยะไข่ และเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำหนดมาตรการคว่ำบาตร และห้ามค้าอาวุธกับพม่า

โฆษกรัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า ไม่มีหลักฐาน และการดำเนินการของรัฐบาลเป็นไปเพื่อปกป้องสิทธิ

พม่าได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหประชาชาติที่ระบุว่า กองกำลังของประเทศมีส่วนในการกวาดล้างชาติพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในการตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาที่เกิดขึ้นต่อกองกำลังรักษาความมั่นคง เมื่อวันที่ 25 ส.ค.

พม่า กล่าวว่า กองกำลังทหารกำลังต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายที่รับผิดชอบการโจมตีตำรวจ และทหาร สังหารพลเรือน และวางเพลิงเผาหมู่บ้าน

การดำเนินการปราบปรามของทหารส่งผลให้ผู้คนต้องหลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศมากเกือบ 440,000 คน ที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาที่กล่าวหาว่า กองกำลังรักษาความมั่นคง และชาวพุทธพยายามจะขับไล่ชาวโรฮิงญาออกจากประเทศ

“ทหารพม่าขับไล่โรฮิงญาออกจากพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ การสังหารหมู่ชาวบ้าน และการลอบวางเพลิงเพื่อขับไล่ผู้คนออกจากบ้านเรือนของตนเองล้วนเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เจมส์ รอสส์ ผู้อำนวยการด้านกฎหมายและนโยบายของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า งานวิจัยขององค์กรที่มีข้อมูลสนับสนุนจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม พบว่า มีการก่ออาชญากรรม ทั้งการเนรเทศ และบังคับย้ายถิ่นประชากร การสังหาร การข่มขืนและการประทุษร้ายทางเพศ และการกดขี่ข่มเหง คณะมนตรีความมั่นคง และชาติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการคว่ำบาตร และห้ามค้าอาวุธกับพม่า

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยระบุว่า รัฐบาลพม่าไม่เคยส่งเสริมสิทธิมากเท่ากับที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

“ข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานอันหนักแน่นเป็นสิ่งอันตราย ทำให้รัฐบาลรับมือต่อเรื่องต่างๆ ได้ยากขึ้น” ซอ เต กล่าว

ความรุนแรงในรัฐยะไข่ และการอพยพของผู้ลี้ภัยเป็นจำนวนมากกลายเป็นวิกฤตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลของนางอองซานซูจี เคยเผชิญนับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศเมื่อปีก่อน

พม่าถือว่าชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และความรุนแรงระหว่างชุมชนเกิดขึ้นเป็นระยะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

แม้สหรัฐฯ จะวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามของทหารว่าไม่เหมาะสม และเรียกร้องให้ยุติความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์ รายหนึ่งระบุในเดือนนี้ว่า ไม่ได้คาดหวังว่าจะกลับมาคว่ำบาตรพม่าอีก

ซูจี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และยังถูกเรียกร้องให้ปลดรางวัลโนเบลของซูจี แต่ด้วยรัฐธรรมนูญที่ทหารร่างขึ้นทำให้ซูจีไม่มีอำนาจควบคุมกองกำลังรักษาความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ซูจี ได้ออกแถลงประณามการละเมิดสิทธิ และให้คำมั่นว่าผู้กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดี

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ กระแสความรู้สึกชาตินิยมในพม่าขยายตัวขึ้น ประชาชนสนับสนุนการปราบปรามผู้ก่อการร้ายที่ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้เริ่มต้นความรุนแรง และไม่ได้แสดงท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อผู้ลี้ภัยมากนัก.
ชาวพม่ารวมตัวให้กำลังใจสนับสนุนนางอองซานซูจีที่หน้าศาลาว่าการนครย่างกุ้ง หลังถูกต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากเหตุความรุนแรงในรัฐยะไข่. -- Agence France-Presse/Ye Aung Thu.
กำลังโหลดความคิดเห็น