xs
xsm
sm
md
lg

นานเท่าไรที่ไม่ได้เห็นเนื้อทราย? พบ 4 ตัวในป่าเขมร ครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ยินดีที่ได้เจอกันอีก -- ภาพจากป่าใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) กัมพูชา เป็นการพบเนื้อทรายอีกครั้งหนึ่ง ในรอบ 10 ปี คราวนี้แอบถ่ายได้หลายตัวด้วย. -- WWF-Cambodia. </b>

MGRออนไลน์ -- กองทุนเพื่อสัตว์ป่าโลก ในกัมพูชา หรือ World Wildlife Fund- Cambodia ได้เผยแพร่ภาพถ่ายเนื้อทรายหลายตัว ที่พบในป่าทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ที่ได้เห็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ ที่สวยงามชนิดนี้ อีกครั้งหนึ่งในดินแดนกัมพูชา ที่ครั้งหนึ่งเชื่อกันว่าได้สูญพันธุ์หมดสิ้นไปจากประเทศนี้แล้ว

มีเนื้อทรายที่โตเต็มที่จำนวน 4 ตัว ที่กล้องถ่ายภาพแบบอัตโนมัติถ่ายเอาไว้ได้ ในเขตป่า จ.กระแจ๊ะ (Kratie) เนื้อที่ 2,678 เฮกตาร์ (16,700 ไร่เศษ) ที่กำลังจะเสนอให้เป็นเขตสงวนพันธุ์ เป็นเพศเมีย 4 เพศผู้ 1 กล้องลั่นชัตเตอร์ ในตอนพลบค่ำ กับตอนก่อนรุ่งสาง -- แน่นอน -- เพราะว่า เนื้อทรายเป็นสัตว์ที่ออกหากินเวลากลางคืน และ ช่วงดือน ก.ย.-ต.ค. ก็เป็นฤดูผสมพันธุ์พอดี ภาพทั้งหมดนี้ ได้สร้างความหวังให้แก่วงการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ

ภาพแสดงให้เห็นเนื้อทรายกำลังกินใบไม้ อีกตัวแทะเล็มต้นกล้า ในนาของราษฎร ที่อาศัยอยู่ในเขตรอบๆ ป่าแห่งนั้น และ ต้องการเห็นสัตว์พวกนี้มีชีวิตอยู่ต่อไป นักวิชาการของ WWF ยังพบรอยเท้าเล็กๆ ของเนื้อทราย ที่อายุยังน้อย อีกจำนวนหนึ่งอยู่รอบๆ จุดที่ตั้งกล้องอัตโนมัติด้วย ทั้งหมดเป็นภาพที่ "ติดกล้อง" จากหลายจุดต่างกันในเขตป่า กองทุนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าในกัมพูชา เผยแพร่รายงานเรื่องนี้สัปดาห์ที่ผ่านมา

เนื้อทราย หรือ Hog Deer [Hyelaphus porcinus] เป็นสัตว์ป่าประเภทกวางอีกชนิดหนึ่ง ที่ถูกจัดไว้ใน "บัญชีแดง" สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เคยเชื่อกันว่าสูญพันธุ์หมดแล้วด้วยซ้ำ ในดินแดนกัมพูชา จนกระทั่งพบครั้งแรกเมื่อปี 2549 ในป่าแห่งเดียวกันนี้ แต่หลังจากนั้นก็ไม่เคยพบอีกเลย จนกระทั่งเมื่อเร็วๆ นี้

"เนตรเจ้างามเหลือ เหมือนดังแม่นางเนื้อทราย.." หลายคนคงจะจำกันได้ เนื้องหาท่อนหนึ่งใน "อิเหนารำพึง" หนึ่งในบรรดาเพลงมหาอมตะ โดยนักร้องแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน สุเทพ วงศ์กำแหง ที่เปรียบเปรยให้เห็นความงามของนัยน์ตา สัตว์ป่าหายากชนิดนี้ ซึ่งช่วยทำให้ผู้คนหันมาสนใจ ใคร่รู้จักเนื้อทรายอีกทางหนึ่ง

ศัตรูสำคัญของเนื้อทรายก็คือ มนุษย์ที่บุกรุกถิ่นอาศัยและหากิน เคลียร์พื้นที่เพื่อการเกษตร เหมืองแร่ ฯลฯ กับ การล่า และ การลักลอบวางกับดัก เพื่อนำสัตว์ป่าไปเป็นอาหาร

"ปัจจุบันเจ้าของที่นาในแถบนี้ ตระหนักเป็นอย่างดี ในความจริงที่ว่า เนื้อทรายไม่ใช่ตัวการทำลายนาข้าวให้เสียหาย และ เป็นสัตว์ที่อำนวยประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ และ ยังมีศักยภาพสูง ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (ในท้องถิ่น) อีกด้วย" พัน จันนา (Channa Phan) นักศึกษาวิจัยมหาวิทยาลัยกัมพูชา (Royal Cambodia University) กรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสำรวจเนื้อทราย กล่าว
.
WWF-Cambodia
2
<br><FONT color=#00003>ข้อมูลในแผนที่นี้อาจเพี้ยนไปหน่อย เพราะเชื่อว่าปัจจุบัน ในประเทศไทยมีเนื้อทรายในธรรมชาติ เหลืออยู่เพียง 2 แห่งคือ ห้วยขาแข้งกับทุ่งกะมัง จ.ชัยภูมิ เท่านั้น.  </b>
3
โดยปกติจะมีสีน้ำตาลเข้มในฤดูหนาว สีเทาในฤดูร้อน ลูกเนื้อทรายเมื่อแรกเกิดมีจุดสีขาวตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจึงจางหายไป บริเวณช่วงท้องมีสีอ่อนกว่าลำตัว ขนสั้นมีปลายขนสีขาว มีแถบสีเข้มพาดตามหน้าผาก มีเขาเฉพาะเพศผู้ ลักษณะเขาคล้ายกวางป่า มีความยาวจากหัวตลอดลำตัว 140-150 เซนติเมตร ไม่รวมหางที่ยาวอีก 17.5-21 ซม. ตัวโตเต็มที่อาจสูงจากพื้นถึงหัวไหล่ 65-72 ซม. และ หนัก 70-110 กิโลกรัม

ประชากรเนื้อทราย มีกะจายตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย ศรีลังกา ภูฏาน บังกลาเทศ และ พม่า ซึ่งเรียกว่าเนื้อทรายพันธุ์อินเดีย [Hyelaphus porcinus porcinus] แต่ไม่มีลักษณะใดโดดเด่น จากเนื้อทรายพันธุ์อินโดจีน [Hyelaphus porcinus annamiticus] ในกัมพูชากับเวียดนามมากนัก เพศเมียตั้งท้องราว 8 เดือน เข้าสู่เจริญพันธุ์เมื่ออายุ 2 ปี ออกลูกครั้งละ 1 ตัว

แสง ตาก (Seng Teak) ผู้อำนวยการสำนักงาน WWF ประจำกัมพูชากล่าวว่า การพบเนื้อทรายที่โตแล้ว รวมทั้งพบรอยเท้าตัวเล็กๆ แสดงให้เห็นความสำเร็จ ในความพยายามของทีมงาน ในการอนุรักษ์ ทั้งช่วยยืนยันว่า ประชากรเนื้อทรายสามารถฟื้นฟูทำให้กลับมาแพร่หลายได้ แต่ต้องเฝ้าติดตามมากขึ้น รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น

WWF ในกัมพูชา ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์เนื่้อทรายในเขตป่าน้ำท่วมลุ่มแม่น้ำโขง ขึ้นเมื่อปี 2557 โดยมุ่งเน้นไปยังชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆ เขตป่า ร่วมกันลาดตระเวณปกป้อง และ ค้นหาประชากร มีการศึกษาวิจัย วางแผน และ ออกแบบแหล่งอาศัย เพื่อนำเนื้อทราย เข้าสู่กระขบวนการคุมครองทางกฎหมาย อย่างถูกต้อง

ตามข้อมูลของกรมป่าไม้ เนื้อทรายเคยเป็นสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย ภายใต้กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2509 แต่ถูกถอดชื่อออก ให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในกฎหมายฉบับใหม่เมื่อปี 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ จำนวนมากพอสมควร แต่เนื้อทรายที่อาศัยในธรรมชาติ เชื่อกันว่าปัจจุบันมีอยู่เพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง กับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งกะมัง จ.ชัยภูมิ ที่มีการเพาะพันธุ์ ก่อนปล่อยให้พ่อแม่ขยายพันธุ์กันเองในธรรมชาติ.
กำลังโหลดความคิดเห็น