MGRออนไลน์ -- หลายฝ่ายกล่าวว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในรัสเซีย สงครามในซีเรียทำให้อาวุุธทั้งป้องกันและโจมตี หลากหลายระบบ ถูกนำออกใช้ ซึ่่งเป็นการพิสูจน์ทั้งคุณภาพและประสิทธิภาพ ไปในสตัว จนกระทั่งกลายเป็นสินค้าที่โลกต้องการ ไม่เพียงแต่รถถัง กับอากาศยานชนิดต่างๆ เท่านั้น วันนี้หลายประเทศ ต้องหันกลับไปสำรวจเรือดำน้ำคิโล (Kilo-Class) กับ เรือติดอาวุธปล่อยนำวิถีของรัสเซีย มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ พวกเรือคอร์แว็ต กับเร็วโจมตีขนาดเล็ก นายดมิตรี โรโกซิน (Dmitry Rogozin) รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สัปดาห์นี้
หลายคนบอกว่า การให้สัมภาษณ์ของ รอง นรม. ผู้กำกับดูแลอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศ นับ เป็นการส่งสัญญาณว่า รัสเซียได้หันมาเน้นการส่งออก อาวุธสำหรับกองทัพเรือมากขึ้น หลังประสบความสำเร็จ ในหมวดยานเกราะ กับยานยนต์ต่างๆ รวมทั้งอากาศยาน ตลอดจนระบบอาวุธสำหรับกองทัพบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มยานลำเลียงพล กับ รถล้อยางโจมตีติดอาวุธปล่อยนำวิถี และ ติดปืนใหญ่ -- เป็นพิเศษยิ่งก็คือ รถถัง T-90 ที่ส่งออกได้อีกหลายร้อยคันในช่วง 2-3 ปีมานี้ โดยมีกองทัพบกอียิปต์เป็นลูกค้ารายล่าสุด
คราวนี้มาถึงยุคของเรือดำน้ำกับเรือรบขนาดเล็ก
"เรือดำน้ำดีเซลโครงการ 636 ที่โลกตะวันตกตั้งฉายาว่า - หลุมดำ (Black Hole) - ติดอาวุธปล่อยนำวิถีคาลิเบอร์ (Caliber) กับเรือขนาดเล็ก ที่ติดอาวุธปล่อยนำวิถี ยุทโธปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงเหล่านี้ ได้กลายเป็นแรงกดดันสำคัญตลาด (โลก)" หนังสือพิมพ์ปราฟดา รายงานวันอังคาร 5 ก.ย.ที่ผ่านมา อ้าง พล.อ.โรโกซิน ที่ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์รอสสิยา 24 (Rossiya 24 หรือ "รัสเซีย 24 ขั่วโมง") ซึ่่งเป็นข่ายของทางการ
"เรือขนาดเล็กที่มีระวางตั้งแต่ 150-500 ตัน เป็นที่ต้องการมากที่สุด เนื่องจากพวกนั้น ได้แสดงให้เห็นขีดความสามารถต่างๆ ระหว่างปฏิบัติการในซีเรีย" ซึ่งทำให้ศักยภาพในการส่งออกสูงขึ้นอีก นายโรโกซินกล่าวในช่วงหนึ่ง ระหว่างการให้สัมภาษณ์
รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ดังกล่าว โดยไม่ได้ลงในรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับ "ความต้องการ" เรือดำน้ำ กับเรือติดระบบอาวุธปล่อยนำวิถี ที่มีชื่อเสียง -- แต่เรือดำน้ำชั้นคิโล กับ เรือฟริเกต และ เรือเร็วติดอาวุธปล่อยฯ ขนาดเล็กอย่างชั้นโมลีนยา (Molyna) และ อื่นๆ ในระดับเดียวกัน ได้เป็นที่รู้จักกันมานาน ตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต รวมทั้งของกองทัพเรือเวียดนาม ที่จัดหาเรือชั้นคิโลจำนวน 6 ลำ โดยได้รับครบตามจำนวนเมื่อปีที่แล้ว ทั้งหมดติดอาวุธปล่อยฯ คาลิเบอร์
การเผยแพร่การสัมภาษณ์ของ นายโรโกซิน ยังมีขึ้นในวันเดียวกับที่รัสเซีย ยิงถล่มเป้าหมายไอซิสในซีเรียอีกหลายสิบแห่ง จากเรือดำน้ำลำหนึ่ง กับเรือรบในทะเลดำ หลังจากฝ่ายรัสเซีย ได้ระดมโจมตีทิ้งระเบิด เป้าหมายไอซิสในซีเรียมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทั้งจากเครื่องบินโจมตีอเนกประสงค์หลายรุ่น และ จากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ระยะไกลขนาดใหญ่ เช่นที่ปฏิบัติตลอด 2-3 ปีมานี้ จนกลายเป็นภาพที่คุ้นตาไปทั่วโลก
.
.
วิดีโอชิ้นแรกเป็นเหตุการณ์ในปลายปี 2558 เรือฟริเกตกับเรือคอร์แว็ต ในทะเลแคสเปียน ยิงจรวดร่อนคาลิเบอร์ ไปถล่มเป้าหมายไอซิสในซีเรีย เป็นระยะทางเกือบ 1,500 กม. โดยรัสเซียขออนุญาต ยิงผ่านน่านฟ้าอิรักและอิหร่าน - ชิ้นที่ 2 เป็นการยิงอาวุธชนิดเดียวกัน จากเรือดำน้ำชั้นคิโล รอสตอฟ-ออน-ดอน ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน นับถือเป็นการแสดงศักยภาพให้โลกภายนอกได้เห็นเป็นครั้งแรก. |
สำนักข่าวกลาโหมชั้นนำหลายสำนักกล่าวว่า นี่เป็นยุคทองของอาวุธรัสเซีย นับตั้งแต่หลังยุคสหภาพโซเวียตเป็นต้นมา ซึ่งระบบอาวุธหลายชนิด ที่ผลิตโดยค่ายคอมมิวนิสต์ใหญ่ เต็มไปด้วยข้อกังขาเกี่ยวกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งความคงทนถาวร จนถึงระบบควบคุมการยิงและการใช้ แต่ในที่สุด ทุกๆ คำถามก็ได้รับคำตอบ ทุกกรณีได้ผ่านการพิสูจน์ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ในสมรภูมิซีเรีย ถึงแม้จะเป็นการโจมตีฝ่ายเดียว ที่แทบจะไม่มีการต่อต้านจากอีกฝ่ายหนึ่งเลยก็ตาม
รองนายกฯ โรโกซินกล่าวอีกว่า ผู้ออกแบบของรัสเซีย ทราบดีว่า จะติดอาวุธอย่างไร จะทำให้เรือขนาดเล็กเหล่านี้ มีพลังอำนาจ และ ปัจจุบันรัสเซีย (กระทรวงกลาโหม) ได้เพิ่มจำนวนการจัดหา ระบบอาวุธกับยุทโธปกรณ์เหล่านี้ อีกทางหนึ่งด้วย
"หากพูดถึงระบบอาวุธแล้ว เรือคอร์แว็ตของเรา เทียบเท่าเรือฟริเกตของฝ่ายตะวันตก อื่นๆ ก็ไม่ต่างกัน" รองนายกฯ คนเดียวกันกล่าว
ต้นปีที่แล้วเรือเซเลนยี โดล (Selenyy Dol) ซึ่่งเป็นหนึ่งในบรรดาเรือคอร์แว็ตชั้นบูยาน (Buyan-class) ขนาด 500 ตัน จากฐานทัพเรือทะเลดำ ได้ยิงจรวดร่อนคาลิเบอร์ ไปทำลายเป้าหมายไอซิสในซีเรียหลายสิบแห่ง เป็นการประกาศศักยภาพของเรือรบขนาดเล็กที่สุดในระบบ -- เป็นการพิสูจน์คำกล่าวของนายโรโกซิน ที่ว่า -- เล็กแต่ทรงพลังอำนาจ -- นอกจากนั้นขนาดเล็ก ยังหมายถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าอีกด้วย
.
.
เรือเซเลนยี โดล (Selenyy Dol) ซึ่งเป็นเรือคอร์แว็ตชั้นบูยัน (Buyan-class) ขนาด 500 ตัน หนึ่งในสองลำ ที่ถูกส่งไปปฏิบัติการนอกชายฝั่งซีเรีย ขณะแล่นผ่านช่องแคบบอสฟอรัสในตุรกี ต้นปี 2559 -- ปัจจุบันมีประจำการในกองทัพเรือรัสเซีย 11 ลำ ขนาดเล็กแต่พลังอำนาจ ไม่ต่างจากเรือรบขนาดใหญ่. |
.
ระหว่างงาน Army Forum 2017 ที่จัดขึ้นในกรุงมอสโก สัปดาห์ปลายเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา อันเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์ Army 2017 ที่จัดขึ้น ในหลายจุดทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหมรัสเซียได้แจกแจงรายละเอียด การปฏิบัติการกับผลปฏิบัติการในซีเรีย ให้เห็นเป็นครั้งแรก ข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นแสดงให้เห็นผลของการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หลากหลายชนิด ในการปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไอซิส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโจมตีทางอากาศ ด้วยเครื่องบินรบหลากหลายรุ่น ที่ใช้ระเบิดที่มีความแม่นยำ และ โจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีชนิดร่อน (Cruise Missile) หลายรุ่น
นอกจาก "จรวดร่อนคาลิเบอร์" แล้ว รัสเซียยังโชว์ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีระยะไกลชนิด "ร่อน" อีกหลายระบบ ทั้งที่ยิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ ขณะบินเหนือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เหนือดินแดนซีเรือ เหนือดินแดนอิหร่าน หรือ อิรัก รวมทั้งที่ยิงจากเรือดำน้ำ เรือฟริเกต กับเรือคอร์แว็ต ทั้งจากทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทะเลดำ และ ทะเลแคสเปียน จากเรื่อคอร์แว็ต และ เรือเร็วโจมตีหลายลำ รวมทั้งยิงจากเรือฟริเกตชั้นเกพาร์ด 3.9 (Gephard 3.9) รุ่นเดียวกับที่เวียดนาม ซื้อจากรัสเซียจำนวน 4 ลำด้วย
.
2
รัสเซียยังโชว์การยิงโจมตีที่มั่นของกลุ่มไอซิสด้วย ระบบอาวุธนำวิถีป้องกันชายฝั่งแบบ S-300 โดยยิงจากฐานยิงเคลื่อนที่บนบก ที่ประจำอยู่ใกล้ ฐานทัพอากาศเมห์มีม กับฐานทัพเรือตาร์ตุส ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้วย ซึ่งสื่อกลาโหมชั้นนำของโลกอย่างเจนส์ ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า เป็นขีดความสามารถที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนของระบบอาวุธชนิดนี้
เครื่องบินโจมตีอเนกประสงค์ ทั้ง Mig-29 และ Su-31 ที่ประจำบนเรือแอดมิรัลคูซเน็ตซอฟ (Admiral Kuznetsov) ซึ่งเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินเพียงลำเดียว ที่ตกทอดมาจากยุคโซเวียต ได้เคยบินออกปฏิบัติการโจมตีเป้าหมายในซีเรีย ด้วยระเบิดและอาวุธปล่อยนำวิถีรุ่นต่างๆ ขณะเรือลอยลำอยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องที่โลกภายนอก ไม่เคยได้เห็นกันมาก่อน แม้ในช่วงปีแห่งสงครามเย็นอันยาวนาน
เรือดำน้ำชั้นคิโลหลายลำ ได้เข้ามีบทบาทในการยิง "จรวดร่อน" คาลิเบอร์ ไปทำลายเป้าหมายไอซิสในซีเรียอย่างแม่นยำ จากระยะไกล นำวิถีด้วยหลายระบบ รวมทั้งกลาสนอสต์เอ็ม (Glasnost-M) ระบบจีพีเอส ที่พัฒนาโดยรัสเซีย นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นกันมาก่อน ตลอดหลายทศวรรษ นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตนำเรือดำน้ำขนาด 2,300 ตัน ชั้นนี้เข้าประจำการ
ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย กับแผนการรบที่มีประสิทธิภาพ ทำให้รัสเซียสามารถเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของสงครามซีเรียได้ ในแบบที่ไม่มีฝ่ายใดคาดคิดมาก่อน และ ส่งผลโดยตรง ทำให้สหรัฐกับโลกตะวันตก ที่เคยมีเป้าหมายสูงสุด ในการกวาดกล้างกลุ่มไอซิสให้หมดไปจาก ดินแดนอิรักกับซีเรีย และ โค่นล้มรัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสสาด ต้องเปลี่ยนเป้าหมายประการหลังนี้ ตั้งแต่ช่วงปลายสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา และ รัฐบาลชุดใหม่โดย ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงสืบต่อนโยบายนี้ในซีเรีย
รัสเซียเคยประกาศหยุดสายการผลิตเรือโครงการ 636 มาครั้งหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้แก่การพัฒนาเรือดำน้ำชั้นใหม่ ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน แต่ออกแบบมาดีกว่า ซึ่งในที่สุดก็เปลี่ยนแปลงแผนการดังกล่าว และ ผลิตเรือโครงการ 636 ต่อไป ทั้งเพื่อส่งออก รวมทั้งเรือโครงการ 636.3 สำหรับบรรจุเพิ่มเติมในกองทัพ อีกอย่างน้อย 4 ลำ สำหรับกองทัพเรือทะเลดำ กับ อีก 6 ลำสำหรับกองทัพเรือภาคตะวันออกไกล (แปซิฟิก) ในปี 2561 เพื่อใช้แทนเรือคิโลโครงการ 677 รุ่นเก่า ที่ใช้มานานกว่า 30 ปี
ยังไม่เป็นที่เปิดเผยในขณะนี้ว่า รัสเซียจะจำหน่ายเรือดำน้ำชั้นนี้ ให้แก่ลูกค้ารายใดบ้าง หลังพลาดโอกาสในการประกวดราคา โครงการจัดหารือดำน้ำของราชนาวี จำนวน 3 ลำเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งไทยเลือกเรือดำน้ำจีน
.
3
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า อินโดนีเซียเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพมากที่สุด อีกรายหนึ่งในภูมิภาคนี้ ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียแสดงความสนใจเรือคิโลที่ใช้งานแล้ว แต่ยังคงประจำการในกองทัพเรือรัสเซีย ซึ่งสื่อในประเทศนี้รายงานว่า มีจำนวนตั้งแต่ 8-11 ลำ กระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เคยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญไปเยี่ยมชม พร้อมทั้งตรวจความเรียบร้อยของเรือคิโลที่ต้องการ มาหลายคณะ แต่เรื่องได้เงียบลงไปตั้งแต่ปี 2558
อินโดนีเซียกำลังจัดให้ความสำคัญลำดับต้นๆ ไปที่เรือดำน้ำรุ่นหนึ่ง ที่จัดหาด้วยความร่วมมือกับเกาหลี และ เพิ่งได้รับมอบลำแรกเมื่อไม่นานมานี้ ขณะเดียวกันก็กำลังต่อลำที่ 3 ในประเทศ เพื่อรอส่งมอบพร้อมลำที่ 2 ที่ต่อจากเกาหลีปลายปีหน้า -- แต่อินโดนีเซียมีแผนการจัดหารือดำน้ำกว่า 10 ลำ ในระยะหลายปีข้างหน้า
สำหรับเรือดำน้ำคิโลนั้น จะต้องไม่มองข้ามพม่า -- นับตั้งแต่ พล.อ.มินอองหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพ ไปเยี่ยมชมเรือรอสตอฟ-ออน-ดอน (Rostov-On-Don) ถึงฐานทัพเรือทะเลดำ ที่เมืองเซวาสโตโปล (Sevastopol) ด้วยตนเอง ระหว่างไปเยือนรัสเซีย อย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำให้อุตสาหกรรมนี้่ต้อง จับตาความเคลื่อนไหวในก้าวต่อไปของลูกค้ารายนี้่
เรือรอสตอฟ-ออน-ดอน เป็นเรือโครงการ 636 คิโลอีกลำหนึ่ง ที่ประจำการในกองทัพเรือทะเลดำ และ มีบทบาทอย่างสูง ในสงครามปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายไอซิสในซีเรีย
ปราฟดารายงานว่า ระหว่างงาน Army 2017 มีคณะผู้แทนกระทรวงกลาโหม หรือ กองทัพ นับสิบประเทศทั่วโลก เข้าเจรจากับคู่ตำแหน่งในรัสเซีย เกี่ยวกับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ และการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับการป้องกันประเทศ คณะจากกระทรวงกลาโหมของไทย ก็ได้ไปเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ ระหว่างงานนี้ด้วยเช่นกัน.