รอยเตอร์ - มาลาลา ยูซาฟไซ ผู้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ที่มีอายุน้อยที่สุดออกมาเรียกร้องให้นางอองซานซูจี ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเดียวกันนี้ กล่าวประณามการปฏิบัติที่น่าละอายต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า โดยกล่าวว่า “โลกกำลังเฝ้ารอ” ให้ซูจีพูดถึงเรื่องนี้
ชาวโรฮิงญาเกือบ 90,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่ความรุนแรงปะทุขึ้นในพม่าเมื่อเดือน ส.ค. ที่เป็นความท้าทายทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดที่ซูจี กำลังเผชิญหน้า และถูกวิจารณ์ถึงการไม่พูดถึงชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้
“ในช่วงหลายปีมานี้ ฉันได้กล่าวประณามการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างน่าสลดใจ และน่าละอายมาตลอด ฉันยังคงเฝ้ารอให้อองซานซูจี ที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพทำเช่นเดียวกัน” มาลาลากล่าวในคำแถลงที่โพสต์ลงบนทวิตเตอร์
“โลกกำลังเฝ้ารอ และชาวมุสลิมโรฮิงญาก็กำลังเฝ้ารอเช่นกัน”
สำนักข่าว Antara รายงานว่า นักเคลื่อนไหวจากอินโดนีเซียเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบล ถอนรางวัลสันติภาพของนางอองซานซูจี ระหว่างชุมนุมประท้วงอยู่ด้านนอกสถานทูตพม่าในกรุงจาการ์ตา
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าเริ่มขึ้นจากเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ที่ด่านตำรวจหลายสิบจุด และค่ายทหารโดยกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญา จนนำไปสู่การปะทะกันอีกหลายครั้ง และการปราบปรามครั้งใหญ่ของทหารที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 คน
เจ้าหน้าที่พม่ากล่าวโทษผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาที่เผาบ้านเรือนผู้คน และการเสียชีวิตของพลเรือน แต่ผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชน และชาวโรฮิงญาที่หลบหนีไปยังบังกลาเทศ ระบุว่า การลอบวางเพลิง และการสังหารเป็นฝีมือของกองทัพพม่าที่มีเป้าหมายจะขับไล่พวกเขา.