xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจจีน-เวียดนามโตวันโตคืน สวนทางตึงเครียดพิพาททะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นักท่องเที่ยวชาวจีนล่องเรือชมความงามของอ่าวฮาลองพร้อมนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 นักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในเวียดนาม. -- Reuters/Kham.</font></b>

รอยเตอร์ - แม้ความตึงเครียดระหว่างเวียดนาม และจีนจะเพิ่มสูงขึ้นจากการอ้างสิทธิทับซ้อนเหนือดินแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้ แต่สำหรับชาวเวียดนามที่มีรายได้เลี้ยงชีพจากการให้บริการล่องเรือในอ่าวฮาลอง กลับยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับชาวจีนซึ่งปรากฏตัวในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ

“เวลานี้นักท่องเที่ยวเกินครึ่งเป็นชาวจีน หากพวกเขาหยุดเดินทางมามันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่มาก” เหวียน วัน ฝู อายุ 33 ปี ที่ใช้เวลา 6 ปี ทำงานบนเรือชมธรรมชาติในอ่าวฮาลอง กล่าว

จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนในเวียดนามเพิ่มสูงขึ้นมากในปีนี้ ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งสัญญาณความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นระหว่างสองประเทศ ส่วนการลงทุนของจีนในเวียดนามยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับการค้าระหว่างสองประเทศ

แม้นักท่องเที่ยว การค้า และการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ก็ถือเป็นความท้าทายสำหรับประเทศเอกราชเช่นเวียดนามที่ต้องระวังอิทธิพลของจีนที่ขยายตัวขึ้นในภูมิภาค

“การพึ่งพาทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นกับจีน ทำให้เป็นเรื่องยากมากขึ้นเช่นกันสำหรับเวียดนามที่จะตัดสินใจถึงวิธีที่จะเผชิญหน้ากับจีนเกี่ยวกับปัญหาทะเลจีนใต้” เหวียน ก๊าก ซาง นักวิจัยจากสถาบันวิจันนโยบายและเศรษฐกิจเวียดนาม กล่าว

จีนส่งออกสินค้ามายังเวียดนามมากกว่าประเทศใดๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสิ่งทอที่ใช้สำหรับผลิตเสื้อผ้าและรองเท้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผลิตโทรศัพท์มือถือและจอโทรทัศน์ ซึ่งสินค้าที่ประกอบเสร็จสมบูรณ์จะถูกส่งออกไปทั่วโลก รวมทั้งส่งกลับไปที่จีน

เวียดนามยังผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับโรงงานต่างๆ ในจีน และส่งออกคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บริโภคชาวจีนเช่นกัน

บรรดาผู้ผลิตมองเวียดนามว่าเป็นฐานที่น่าดึงดูดใจ ด้วยค่าแรงเพียง 1 ใน 3 ของบรรดาผู้ผลิตตามพื้นที่ชายฝั่งของจีน

“เราลงทุนทางยุทธศาสตร์ในเวียดนามเพราะข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่ใกล้จีน และมีค่าใช้จ่ายต่ำ ทั้งวัตถุดิบ การขนส่ง และระยะเวลาการผลิตที่สั้นลง” ผู้บริหารบริษัทที่ผลิตเสื้อผ้าให้แก่แบรนด์ต่างๆ กล่าว

การค้าและการลงทุนของจีนเพิ่มขึ้นทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงหลายปีมานี้ เนื่องจากบริษัทต่างๆ มองหาฐานใหม่สำหรับการผลิต และผู้บริโภคสำหรับสินค้าของพวกเขา

จีนยังลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และวางแผนที่จะทุ่มทุนพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง

ความตึงเครียดระหว่างปักกิ่ง และฮานอย พุ่งสูงตั้งแต่กลางเดือน มิ.ย. เมื่อจีนกดดันบังคับให้เวียดนามระงับการขุดเจาะน้ำมันบนบล็อกสำรวจนอกชายฝั่งที่ทับซ้อนกับน่านน้ำที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์อธิปไตย

เวียดนามกลายเป็นแกนนำหลักในการส่งเสียงคัดค้านการอ้างสิทธิทางทะเลของจีนในทะเลจีนใต้ ความเคลื่อนไหวที่ทำให้ปักกิ่งไม่พอใจ รวมทั้งการขยายความสัมพันธ์ด้านการป้องกันกับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย

รัฐบาลเวียดนามยังต้องต่อสู้กับแรงกดดันจากประชาชนในประเทศ ในประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับการขุดเจาะน้ำมันของจีนในน่านน้ำพิพาทในทะเลจีนใต้ในปี 2557 ที่ก่อให้เกิดเหตุจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม ทำให้โรงงานของชาวต่างชาติที่ถูกเข้าใจว่าเป็นของชาวจีนถูกเผาทำลาย ก่อนที่จีนจะเคลื่อนย้ายแท่นขุดเจาะออกไป

.
<br><FONT color=#000033>ธงชาติเวียดนามและธงชาติจีนโบกสบัดอยู่หน้าโรงงานพลาสติกที่จีนลงทุนในจ.บั๊กซยาง. -- Reuters/Kham.</font></b>
.
<br><FONT color=#000033>รถคอนเทนเนอร์กำลังข้ามด่านชายแดนติดกับจีน ในจ.ลางเซิน ทางเหนือของเวียดนาม. -- Reuters/Kham.</font></b>
.
แม้การท่องเที่ยวจะลดลงจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่การค้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้น

การส่งออกไปจีนพุ่งขึ้นเกือบ 43% ที่ 13,000 ล้านดอลลาร์ ในครึ่งแรกของปี 2560 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามข้อมูลศุลกากร ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น 60% ที่จำนวน 1.9 ล้านคน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 เทียบเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด

แม้นักลงทุนโดยตรงจากต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามจะตกเป็นของเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมายาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีชาวเวียดนามมากกว่า 100,000 คน ทำงานให้แก่บริษัทซัมซุงในประเทศ แต่การลงทุนจากจีนก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ มากขึ้นเกือบ 2 เท่าของปีก่อน ที่ประมาณ 8% ของการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติทั้งหมด

ส่วนการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ มีสัดส่วน 2% จากการลงทุนทั้งหมดในปีนี้ และเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของเวียดนาม.
กำลังโหลดความคิดเห็น