เอเอฟพี - อดีตนายธนาคารเวียดนาม 51 คน ถูกนำตัวขึ้นศาลในวันนี้ (28) เพื่อพิจารณาคดีฉ้อโกงเงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ของธนาคารเอกชนรายใหญ่ ท่ามกลางการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาคส่วนการเงินและการธนาคารของประเทศ
ทางการเวียดนามได้ให้คำมั่นที่จะกวาดล้างการทุจริตในอุตสาหกรรมการเงินที่เต็มไปด้วยการเล่นพรรคเล่นพวก และการหลบเลี่ยงกฎหมายในการปล่อยสินเชื่อ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะปราบปรามการทุจริตในประเทศ
ในการพิจารณาคดีครั้งล่าสุดนี้ อดีตประธานธนาคารโอเชียน (Ocean Bank) นายห่า วัน ถัม ถูกกล่าวหาว่าอนุมัติเงินกู้อย่างผิดกฎหมายจำนวน 23 ล้านดอลลาร์ในปี 2555 ที่นำไปสู่การสิ้นสุดของธนาคารและทำให้นายถัมหลุดจากสถานะผู้ที่ร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
ถัมและนายธนาคารและนักธุรกิจอีก 50 คน ที่ส่วนใหญ่ทำงานกับธนาคารโอเชียน ถูกตั้งข้อหาหลากหลายที่เกี่ยวข้องต่อการอนุมัติสินเชื่อผิดกฎหมายในการพิจารณาคดีนาน 20 วัน ซึ่งเริ่มต้นในวันนี้
การพิจารณาคดีครั้งนี้ยังเกี่ยวข้องต่อทนายความฝ่ายจำเลย 50 คน และพยานอีกมากกว่า 700 คน
นายถัม ถูกกล่าวหาว่า อนุมัติสินเชื่อให้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพม์จุงยวุ๋ง โดยไม่มีหลักประกันที่เหมาะสม
กลุ่มบริษัทโอเชียนกรุ๊ป ที่รวมทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม เติบโตอย่างรวดเร็วหลังก่อตั้งบริษัทในปี 2550 และมูลค่าของบริษัทอยู่ที่ 500 ล้านดอลลาร์ในปี 2556 ภายใต้การกำกับดูแลของถัม แต่หลังจากถัมถูกจับกุมตัวในปี 2557 สาขาของธนาคารส่วนใหญ่ปิดตัวลง และธนาคารแห่งชาติเวียดนาม (ธนาคารกลาง) ได้เข้าครองกิจการธนาคารโอเชียนในมูลค่า 0 ดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทโอเชียนกรุ๊ปยังคงดำเนินกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและบริการต่างๆ และมีมูลค่าราว 3.5 ล้านดอลลาร์ในปี 2559
ในช่วงที่ผ่านมา เวียดนามได้จำคุกนายธนาคารไปแล้วหลายสิบคนในคดีธนาคารอื้อฉาวต่างๆ ที่หลายคนมองว่า เป็นความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะทำความสะอาดภาคส่วนนี้
“การพิจารณาคดีวันนี้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของรัฐบาลเวียดนามในการต่อสู้กับคอร์รัปชัน” เหวียน ฮว่าง หาย รองประธานสมาคมนักลงทุนการเงิน กล่าว
ในเดือน ก.ย.2559 อดีตพนักงานธนาคารก่อสร้างเวียดนาม (Vietnam Construction Bank) 36 คน ถูกตัดสินโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 30 ปี หลังถูกล่าวหาว่าลอบถอนเงินหลายล้านดอลลาร์จากบัญชีลูกค้าเพื่อใช้เป็นเงินกู้ หรือเก็บไว้เอง
ทางการยังมุ่งเป้าไปยังภาคส่วนอื่นๆ เพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน แม้นักวิเคราะห์ระบุว่าการตัดสินโทษมักถูกขับเคลื่อนจากการต่อสู้แย่งชิงทางการเมืองมากกว่าความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปอย่างแท้จริง.