MGRออนไลน์ -- นายกรัฐมนตรีกัมพูชาฮุนเซน เดินทางไปยัง อ.เหลิกนีง (Lộc Ninh) จ.บี่งเฟื้อก (Bình Phước) ในภาคใต้เวียดนาม วันพุธ 21 มิ.ย.นี้ เพื่อเยือนถิ่นเก่าที่เคยอาศัย ในช่วงปีที่หลบหนีการตามล่าของ ระบอบเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท เอียงสารี กับ เคียวสมพร เมื่อ 40 ปีที่แล้ว และ ในการซ่องสุมผู้คน ก่อตั้งกองกำลังอาวุธ เตรียมการกลับไปยึดอำนาจในกัมพูชา โดยมีกองทัพเวียดนามมหึมาอยู่ข้างหลัง
ตามรายงานของสื่อทางการ ฮุนเซนในเครื่องแบบจอมพล 5 ดาว ผู้บัญชาการสูงสุดของกองทัพราชอาณาจักรกัมพูชา ยังจำเรื่องราวเก่าๆ ได้ รวมทั้งจุดที่เคยใช้ฝังอาวุธเอาไว้ และ จุดที่เคยล้างถ้วยล้างชาม ทำครัวเมื่อก่อน ผู้นำกัมพูชาได้ขอขอบคุณฝ่ายเจ้าภาพเวียดนาม ที่รักษาร่องรอยต่างๆ เมื่อก่อนนี้เอาไว้ ให้ชนรุ่นหลังได้ติดตามศึกษา
ฝ่ายเวียดนามได้จัด พล.ท.อาวุโสเหวียนจี๋วีง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กับ พล.ท.เจิ่นโดน รมช.กระทรวงความมั่นคงภายใน ร่วมกับบรรดาผู้นำท้องถิ่น จ.บี่งเฟื้อก ต้อนรับการเยือนของผู้นำกัมพูชาครั้งนี้ สำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรสรายงาน
ที่ตั้งของกลุ่ม "กบฏเขมรแดง" อยู่ในเขตหมู่บ้านฮวาลือ ต.เหลิกเติ่น ฮุนเซนซึ่งในปีโน้นเพิ่งอายุ 25 ได้พาพลพรรคเดินเท้า ข้ามแดนจากกัมพูชาเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นสวนยางพารา อันกว้างใหญ่ไพศาล แต่แหล่งที่ตั้งถิ่นฐานเมื่อ 40 ปีก่อน ยังได้รับการรักษาไว้เป็นอย่างดี นรม.กัมพูชา ยังได้ร่วมปลูกต้นไม้ "สามัคคีเวียดนาม-กัมพูชา" กับฝ่ายเจ้าภาพ ระหว่างไปเยือนครั้งนี้
นรม.กัมพูชาได้พูดคุยกับประชาชนในท้องถิ่น ทั้งบอกเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ไม่อาจจะลืมเลือนได้ ขณะอาศัยอยู่ในเวียดนาม เล่าถึงความยากลำบาก แหล่งที่เคยฝังอาวุธไว้ และ ฝึกอาวุธ รวมทั้งเคยกินข้าวร่วมจาน กับบรรดามิตรสหายชาวเวียดนามในพื้นที่
ฮุนเซนไปที่นั่น เพื่อรำลึกครบรอบ 40 ปี การเริ่มกระบวนการกู้ชาติ ทั้งยังได้ขอบคุณเวียดนามอย่างสุดซึ้ง ที่ได้ช่วยเหลือตนกับครอบครัว และ ประชาชนกัมพูชา จนกระทั่งสามารถกลับไปขับไล่ "ระบบล้างชาติโปลโป้ท" จนสำเร็จในที่สุด
เมื่อ 5 ปีที่แล้วผู้นำกัมพูชา เคยไปเยือนอีกท้องถิ่นหนึ่งใน จ.เตยนีง ทางทิศตะวันตกของนครโฮจิมินห์ ที่เคยใช้เป็นฐานที่มั่น และ ฝึกฝนกำลังติดอาวุธใหญ่ โดยย้ายไปจาก จ.บี่งเฟื้อก แห่งนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อรำลึกครบรอบปีสำคัญ ซึ่งได้มีการสร้างอนุสรณ์สถานฮุนเซนที่นั้่นด้วย
วันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดพิธีรำลึกเหตุการณ์เดียวกันนี้ ทางฝั่งกัมพูชาเช่นกัน โดย นรม.กัมพูชา ได้เป็นประธานในพิธีการ รวมทั้งพิธีทางศาสนาที่ อ.เมโหมต (Memot) จ.ตะบองคะมุม (Tbong Khmum) ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็นจังหวัดล่าสุด โดยแยกบางส่วนออกไปจาก จ.กัมปงจาม และ กัมปงธม
.
2
สงครามต่อสู้กับรัฐบาล พล.อ.ลอนนอล ที่สหรัฐหนุนหลัง ดำเนินมายาวนาน และ จบลงด้วยฝ่ายเขมรแดง ซึ่งก็คือพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูช่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนเมื่อก่อน เข้ายึดกรุงพนมเปญอย่างเบ็จเสร็จ ในวันที่ 18 เม.ย.2518 ก่อนคอมมิวนิสต์เวียดนามจะสามารถยึดกรุงไซ่ง่อนได้ 2 สัปดาห์เศษ แต่หลังจากนั้นคอมมิวนิสต์สายจีน กับคอมมิวนิสต์ต่างอุดมการณ์สายโซเวียต ก็เริ่มเกิดความระหองระแหง และ นำไปสู่การสู้รบตามแนวชายแดน
ในช่วงปี 2520-2521 สื่อของทางการเวียดนามได้โหมประโคมข่าว ฝ่ายเขมรแดงบุกข้ามพรมแดน เข้าโจมตีปล้นสะดม สังหารโหด ราษฎรเวียดนามที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน รวมทั้งขับไล่ชาวเวียดนาม ที่อาศัยทำกินในดินแดนกัมพูชาเมื่อก่อน กลับประเทศทั้งหมด ขณะที่ระบอบใหม่ในกรุงพนมเปญ ได้ออกข่าวเกี่ยวกับความพยายามก่อการรัฐประหารหลายครั้ง รวมทั้งการก่อกบฏตามแนวชายแดน โดย "พวกเขมรขายชาติ" กลุ่มหนึ่ง ที่เวียดนามให้การเลี้่ยงดู คอยข้ามพรมแดน โจมตีฝ่ายรัฐบาล ก่อกวนความสงบสุขของประชาชน
ในช่วงปีแห่งสงคราม ไม่มีผู้ใดรู้จักฮุนเซน ซึ่งเป็นเพียงนายทหารระดับผู้บังคับกองพัน ประจำอยู่พื้นที่ชายแดนตะวันออกตลอดมา จึงมีความสนิทชิดเชื้อกับฝ่ายเวียดนามเป็นอย่างดี
วิทยุเวียดนามออกรายงานในวันคริสต์ ปี 2521 เกี่ยวกับการรุกรบใหญ่ตีโต้ฝ่ายเขมรแดงที่รุกล้ำพรมแดน ทหารเวียดนามนับแสนคนได้ข้ามพรมแดน รุกเข้าสู่กรุงพนมเป็ญ สามารถยึดเมืองหลวงของเขมรแดงได้ ในวันที่ 7 ม.ค.2522 โดยอ้างว่า ได้รับการร้องขอจาก "แนวร่วมกู้ชาติ" ของประชาชนชาวกัมพูชา ที่ไม่สามารถอดทน "ระบบล้างชาติโปลโป้ท" ที่บริหารประเทศอย่างโหดร้ายทารุณได้
กองทัพเวียดนามได้ประกาศจัดตั้ง "สาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา" ในวันเดียวกัน พร้อมจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ในกรุงพนมเปญ ที่นำโดยเฮงสัมริน-เพน สุวรรณ (Pen Sovann/แปน โซวาน) และ เจียซิม หลังจากนั้นอีกหลายปีจึงมีชื่อ "ฮุนเซน" ปรากฏขึ้นมา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งต่อมาได้ควบตำแหน่งรองนายกฯ ด้วย
เพน สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก พร้อมรัฐบาลชุดแรกในปี 2522 แต่อยู่ในตำแหน่งเพียง 6 เดือน ก็ถูกเวียดนามปลด เนื่องจากไม่สนองนโยบาย และ นำนายจัน สี (Chan Si) ผู้นำที่ไม่เคยมีใครรู้จักอีกคนหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ต่อมาอีก 4 ปีจนถึงปี 2528 จึงถึงแก่กรรมอย่างมีปริศนา เป็นการเปิดทางให้ฮุนเซนขึ้นสู่อำนาจ
หลังจากฮุนเซน ขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาลได้ไม่นาน เพน สุวรรณ ก็ถูกจับกุมที่บ้านพัก จ.ตะแกว ในปลายปี 2528 และ ถูกนำตัวไปคุมขังในเวียดนามต่อมาอีก 10 ปี จนได้รับอิสรภาพเมื่อกัมพูชาก้าวเข้าสู่ยุคใหม่
ในกาลต่อมาจึงได้ปรากฏความจริงจากปากของเพ็ญ สุวรรณ เองว่า ตนเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของฮุนเซน แต่เป็นคนละขั้วกันหลังการยึดอำนาจ โดยฮุนเซนมีเวียดนามควบคุมอยู่เบื้องหลัง และ หลังจากได้รับอิสรภาพ เพน สุวรรณ ได้กลับสู่เวทีการเมืองอีกครั้งหนึ่ง นำพรรคการเมืองของตนลงสนามเลือกตั้ง แตไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยู่เบื้องหลังพรรคกู้ชาติกัมพูชา ของนายสัมรีงสีมาจนกระทั่งสิ้นอายุขัย
เจีย ซิม ถึงแก่อสัญกรรมในเดือน มิ.ย.2558 ในตำแหน่งประธานวุฒิสภากัมพูชา รวมอายุ 83 ปี และ เพน สุวรรณ สิ้นลมเดือน ต.ค.2559 ที่ จ.ตะแกว บ้านเกิด อายุ 80
กลุ่มผู้นำที่เวียดนามนำขึ้นสู่อำนาจในกรุงพนมเปญ เมื่อเกือบ 40 ปีก่อน ยังคงอยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งฮุนเซน ที่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ติดต่อมาเป็นเวลา 32 ปีโดยไม่ขาดช่วง และ ยังประกาศอยู่ในอำนาจต่อไปอีกสมัย 5 ปี หลังการเลือกตั้งปีหน้า.