MGRออนไลน์ -- กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเวียดนาม ได้เปิดเผยแผนการก่อตั้งสายการบินพาณิชย์ของตนสัปดาห์นี้ และ จะดำเนินการขอใบอนุญาติจากองค์การการบนพลเรือเวียดนามต่อไป เพื่อเข้าแข่งขันในตลาดการบินเติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แล้ว 4 แห่ง รวมทั้งสายการบินที่เอกชนเป็นเจ้าของ 100% หนึ่งแห่ง นอกจากนั้นยังมีสายการบินของฝ่ายทหารอีกแห่งหนึ่ง ที่ยื่นขอใบอนุญาตไปแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่สามารถขยายสนามบินรองรับได้ทัน
ตามรายงานของสื่อทางการ กลุ่มบริษัทเอฟแอลซี (FLC Group) เปิดเผยแผนการเกี่ยวกับการก่อตั้งสายการบินเวียดนามแบมบู (Vietnam Bamboo Airline) เพื่อเข้าแข่งตลาดการบินในประเทศ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น ได้เห็นชอบและโหวตรับรองเงินทุนจดทะเบียน 7 แสนล้านด่ง หรือ 30.8 ล้านดอลลาร์ สำหรับการเริ่มต้น
"สายการบินไม้ไผ่เวียดนาม" จะยื่นขอใบอนุญาตในเร็วๆ นี้ และ หากได้รับอนุญาต ก็จะเป็นสายการบินแห่งที่ 5 ในประเทศที่มีประชากร 90 ล้านคน และ มีผู้ใช้บริการเดินทางทางอากาศ 52.2 ล้านคน เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งคิดเป็นอัตราการขยายตัวถึง 29% เฉพาะการบินในประเทศ ปรากฏว่า มีผู้ใช้บริการถึง 28 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 35% เลยทีเดียว
อัตราการขยายตัว และ จำนวนผู้โดยสารเป็นตัวเลขที่ยั่วยวน และ เป็นแรงจูงใจสำคัญ ให้กลุ่มทุนต่างๆ ต้องการกระโดดลงแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขผู้โดยสารในประเทศ ทีแสดงให้เห็นว่า ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก
ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 30.8 ล้านดอลลาร์ จะทำให้เวียดนามแบมบูแอร์ไลน์ส สามารถจัดหาเครื่องบินโดยสารได้ 30 ลำ เหงือยเดือตินออนไลน์ รายงาน
ก่อนที่กลุ่ม FLC จะออกประกาศตัวนั้น ปลายปีที่แล้วสายการบินเวียดสตาร์แอร์ไลน์ส (Vietstar Airlines) ที่กองทัพประชาชนถือหุ้นใหญ่ และ ได้พยายามบินรับส่งผู้โดยสาร และ ขนส่งสินค้า มาตั้งแต่ปี 2558 ได้ยื่นขอใบอนุญาต เพื่อให้บริการเปิดเที่ยวบินโดยสารประจำเส้นทาง โดยปัจจุบันเวียดสตาร์เป็นบริษัท ซ่อมบำรุงเครื่องบินที่ท่าอากาศยานนครโฮจิมินห์ และ ท่าอากาศยานกรุงฮานอย รวมทั้งมีบริษัทเครื่องบินเช่าในเครือด้วย
เวียดสตาร์แอร์ไลน์ส ก่อตั้งด้วยเงินทุนจดทะเบียน 4 แสนล้านด่ง แต่ได้รับคำแนะนำให้เพิ่มเงินทุนขึ้นเป็น 700 ล้านด่ง จึงจะเข้าข่ายได้รับการพิจารณา และ ในเดือน ก.ย.2559 เวียดสตาร์ก็ได้ดำเนินการตามนั้น ซึ่งได้กลายเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่ Vietnam Bamboo Airlines นำมาใช้
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นปีนี้รัฐบาลเวียดนามโดยกระทรวงคมนาคม ได้ขอให้องค์การการบินพลเรือนเวียดนาม ระงับการออกใบอนุญาตสายการบินแห่งใหม่เอาไว้ก่อน จนกว่าการขยายสนามบินเตินเซินเญิ๊ต (Tan Son Nhat) นครโฮจิมินห์ ที่จะใช้เป็นศูนย์การบิน จะแล้วเสร็จซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปีหน้า
.
2
ท่าอากาศยานนานาชาติโฮจิมินห์ ซึ่งเคยเป็นฐานทัพอากาศของสหรัฐในยุคสงคราม ผ่านการขายและพัฒนามาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัจจุบันอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง สามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้เพียง 20 ล้านคนต่อปี แต่เมื่อ่ปีที่แล้วมีผู้ไปใช้บริการ 26.5 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 31 ล้านคนในปีนี้ และ 50 ล้านคนในระยะ 10 ปีข้างหน้า ขณะที่บริการภาคพื้นดินอยู่ในอาการล้าเต็มกำลัง เนื่องจากมีไม่เพียงพอ ทำให้การปรับปรุง-ขยาย มีความเร่งด่วนอย่างยิ่งยวด
ทางการนครโฮจิมินห์ ได้ร่วมกับกระทรวงขนส่ง และ กระทรวงกลาโหม หาทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ ในที่สุดก็ได้ที่ดินเพิ่มเติม จากเขตฐานทัพอากาศ ที่อยูในบริเวณเดียวกัน เป็นเนื้อที่ 21 เฮกตาร์ 131.25 ไร่ ที่ดินส่วนนั้นอยู่ทางทิศตะวันออกของอาณาบริเวณ กองทัพสงวนไว้สำหรับจอดเครื่องบิน และ เฮลิคอปเตอร์
การเจรจาประสบความสำเร็จ กระทรวงกลาโหมยอมจำหน่ายที่ดินส่วนนั้นให้ เป็นเงิน 864 ล้านดอลลาร์ (ตกไร่ละกว่า 6.582 ล้านดอลลาร์ หรือ กว่า 233.69 ล้านบาท หรือ กว่า 584,000 บาทต่อตารางวา) และ ส่งมอบเดือน ก.พ.ปีนี้ การท่าอากาศยานภาคใต้ ได้ลงมือทันที สำหรับการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ 2 หลัง ซึ่งจะทำให้รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2561
สนามบินโฮจิมินห์มี 2 รันเวย์ และ มีบ่อยครั้งเหลือใช้งานได้เพียง 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูฝน เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม กระทั่งปัญหาที่เกิดจากฟ้าผ่าก็ยังเคยมี
เวียดนามกำลังก่อสร้างท่าอากาศยานใหญ่แห่งใหม่ ที่ อ.ลองแถ่ง จ.โด่งนาย ห่างจากนครโฮจิมินห์ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 40 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดการแออัดของสนามบินเตินเซินเญิ๊ตลงได้ แต่กว่าการก่อสร้างเฟสที่ 1 จะลงมือได้ ก็คาดว่าจะเป็นปี 2562
สนามบินใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้มาถึงจุดแออัดเหลือกำลัง ขณะที่สายการบินต่างๆ ทะยอยกันจัดหาเครื่องบินโดยรุ่นใหม่ๆ ไม่หยุด อีก 3 ปีข้างหน้า เวียดนามแอร์ไลน์เพียงแห่งเดียว จะมีเครื่องบิน 263 ลำ ยังไม่นับรวมของเวียดเจ็ทแอร์ของเอกชน ซึ่งเป็นสายการบินใหญ่อันดับ 2 นอกจากนั้นยังมีเจ็ตสตาร์แปซิฟิก กับวาสโกแอร์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสายการบินแห่งชาติ.