MGRออนไลน์ -- กองทัพอากาศสหรัฐได้เสนอยืดอายุประจำการ ของเครื่องบินโจมตี ที่ผ่านการรบมามากที่สุด ตกเป็นเรื่องราวอื้อฉาวที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง แต่ว่าใช้งานมีประสิทธิภาพดีที่สุด และ ใช้มานานกว่า 40 ปี ตั้งแต่ช่วงปลายสงครามเวียดนาม การดำเนินการล่าสุดนี้มีขึ้น หลังจากได้มีความพยายามที่จะปลดอากาศยานรุ่นนี้มาอย่างน้อย 3 ครั้ง เรื่องนี้ปรากฎอยู่ใน แผนงบประมาณปี 2561 ของกระทรวงกลาโหม ที่นำเสนอต่อรัฐสภาสัปดาห์นี้่
ความเคลื่อนไหวนี้ ทำให้ เอ-10 "ธันเดอร์โบลต์ 2" (A-10 "Thunderbolt II") ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 283 ลำ ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ท่ามกลางเสียงสนับสนุน ของบรรดาหน่วยรบเหล่าราบ ที่หลงรักในเสน่ห์ กับความสามารถของเครื่องบินโจมตีเก่าแก่รุ่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาทหาร ที่เข้าสู่สงครามทั้งในอัฟกานิสถาน และในอิรักในปัจจุบัน
กองทัพอากาศสหรัฐ ได้กลับนโยบายของรัฐบาลประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่มองว่า A-10 เป็นส่วนเกิน และ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล ในการดูแล และ การปฏิบัติการ ในขณะที่รัฐบาลพยายามลดงบประมาณกลาโหมลงอย่างมากมาย สำนักข่าวเอพีรายงานเรื่องนี้
ก่อนหน้าเพียง 3 ปี กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่ดำเนินการสนองนโยบายของรัฐบาล ได้เสนอให้ปลด A-10 ทั้งหมด โดยคาดว่า จะประหยัดงบประมาณได้ราว 3,500 ล้านดอลลาร์ในเวลา 5 ปี เพื่อนำงบประมาณส่วนนี้ ไปสมทบในการพัฒนาเครื่องบินรบล่องหนยุคที่ 5 คือ F-35 "ไล้ท์นิ่ง2" (Lightning II) แต่ความพยามดังกล่าว ถูกทัดทานจากวุฒิสภา ที่มีวุฒิสมาชิกจอห์น แม็คเคน พรรค รีปับลิกัน รัฐแอริโซนา เป็นหัวหอก ซึ่งมลรัฐนี้เป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุดของฝูงบิน A-10
วุฒิสมาชิกแม็คเคน เป็นประธานคณะกรรมาธิการบริการด้านกลาโหม ที่ทรงอิทธิพลของวุฒิสภา และ ยังเป็นอดีตทหารผ่านศึกเวียดนาม โดย ร.ท.จอห์น แม็คเคน อดีตผู้ช่วยนักบิน ซึ่งก็คือ วุฒิสมาชิกแม็คเคนในปัจจุบัน เคยถูกยิงตกและถูกคุมขังในเรือนจำกรุงฮานอย หรือ "ฮานอยฮิลตัน" หลายปี ก่อนจะมีความตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ ระหว่างสหรัฐกับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ
รัฐแอริโซน่า ยังมีวุฒิสมาชิกสตรีอีกคนหนึ่ง ที่เคยเป็นนักบินของ A-10 และ อดีตผู้บังคับฝูงบิน A-10 ขณะปฏิบัติการในอัฟกานิสถานหลายปีก่อน
ปี 2559 กระทรวงกลาโหมพยายามจะปลด A-10 อีกครั้ง และ ครั้งนี้มีเงื่อนไขพ่วงท้ายว่า การตัดสินใจครั้งสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องนี้จะมีขึ้นในปี 2562 แต่ถูกรัฐสภาปฏิเสธอีก
เมื่อปีที่แล้วเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพอากาศ ยังคงให้สัมภาษณ์ถึงความตั้งใจ ที่จะปลดเครื่องบินรุ่นนี้ทั้งฝูง โดยระบุว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด ในขณะที่มีปัญหางบประมาณจำกัดจำเขี่ย ในการพัฒนาเครื่องบินรบรุ่นใหม่ โดยตั้งเป็นเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นกว่าเดิม ว่า จะมีการตัดสินใจเรื่องนี้ในปี 2565 คือ ยอมยืดอายุ A-10 ออกไปอีก 5 ปี
.
.
แต่การดำเนินการของกองทัพอากาศยุคประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในสัปดาห์นี้ทำให้ A-10 ทั้งหมด มีชีวิตยืนยาวต่อไป โดยปราศจากภัยคุกคามใดๆ อย่างน้อยที่สุดก็จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งถ้าหากมีความพยายาม จะกำจัดเครื่องบินรุ่นนี้อีก ก็จะต้องเปิดศึก กับรัฐสภาอีกเพื่อแก้ไขรัฐบัญญัติ
เครื่องบินรุ่นนี้มีบทบาทสำคัญอย่างไร?
นี่คืออากาศยานที่นักบินพากันมองว่า มีหน้าตาน่าเกลียด แต่ก็หลงรัก และ เรียกชื่อเล่นอย่างเอ็นดู ว่า "Warthog" (วอร์ธฮ็อก) หรือ "หมูป่า" ที่มีเขี้ยวโง้ง ทั้งนี้เป็นไปตามรูปลักษณ์ เมื่อมองจากส่วนหัว ทั้งจากหน้าตรงและด้านข้าง ซึ่งจะเห็นเค้าโครงของสัตว์ป่าชนิดนี้
เริ่มผลิตในช่วงปี 2515-2517 คือในช่วงปลายสงครามเวียดนาม โดยกองทัพสหรัฐตั้งใจ หมายหมั่นปั้นมือ ให้เป็นมือปราบ รถถัง T-72 ของสหภาพโซเวียต ซึ่ง T-72 เป็นชื่อที่น่าสะพรึงกลัวในขณะนั้น แต่กว่าจะได้บรรจุเข้าประจำการ ก็จนกระทั่งปี 2519 ไม่มีโอกาสได้แผลงฤทธิ์ในเวียดนาม เนื่องจากสงครามยุติลงเสียก่อน
"หมูป่าเขี้ยวตัน" มีลักษณะพิเศษกว่าเครื่องบินรบอื่นๆ มากมายหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เป็นอากาศยานเพียงรุ่นเดียว ที่สร้างขึ้นมาเพื่อ ภารกิจโจมตีเพื่อสนับสนุนการรบของทหารราบ ที่เรียกว่า "การโจมตีทางอากาศสนับสนุนภาคพื้นดินระยะประชิด" อันเป็นสิ่งที่ทหารราบต้องการมาก เนื่องจากในการรุกรบในระยะประชิดนั้น การสนับสนุนจากเฮลิคอปเตอร์ติดปืน หรือ "กันชิป" (Gun Ship) ไม่เพียงพอ การที่จะต้องบินต่ำ ทำให้อากาศยานปีกหมุน มีโอกาสถูกยิงตกง่ายๆ ด้วยปืนต่อสู้อากาศยาน หรือกระทั่งปืนกลทั่วไป
ในขณะเดียวกันกองทัพก็ได้พบว่า การสนับสนุนจากเครื่องบินรบรุ่นใหม่ๆ ก็ไม่ค่อยได้ผล เนื่องจากไอพ่นมีความเร็วสูงนั่นเอง
เพราะฉะนั้น A-10 จึงเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เนื่องจาก "ไม่เร็วเกินไป และ ไม่ช้าเกินไป" โดยติดเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน 2 เครื่อง จะบินเร็วก็ได้ช้าก็ได้ และ ติดอาวุธที่มีอานุภาพในการทำลายสูงอีกด้วย
.
2
อาวุธหลักที่น่าเกรงขามที่สุดสำหรับฝ่ายอริก็คือ ปืนใหญ่ 30 มม.แบบ "แก็ตลิ่งกัน" (Gatling Gun) 7 ลำกล้องหมุน ยิงกระสุนเจาะเกราะ 3,900 นัดต่อนาที ยิงรถถังกับยานหุ้มเกราะต่างๆ กระจุยกระจาย นอกจากนั้นยังติดอาวุธปล่อยนำวิถีเมเวอริค (Maverick) กับไซด์ไวเดอร์ รวมทั้งติดระเบิดที่ความแม่นยำสูงรุ่นใหม่ๆ ได้อีกหลายรุ่น ใต้ท้องของเครื่องบิน รวมทั้งใต้ห้องนักบิน ยังติดตั้งแผ่นเกราะไทเทเนียมหนา ป้องกันตนเองเมื่อถูกยิงด้วย ปตอ.จากเบื้องล่าง
ปืนใหญ่ของ A-10 ที่มีความยาวเท่าๆ กับรถเก๋งคันหนึ่ง ถูกฝังอยู่ในลำตัวตามแนวยาวของเครื่องบินเกือบทั้งลำ เวลาจะยิงเป้าหมายข้างล่าง นักบินต้องนำเครื่องดิ่งหัวลง ก่อนผละออกไป เพื่อบินวนกลับไปยิงซ้ำถ้าหากจำเป็น
A-10 มีประวัติเคยถูกกกลุ่มก่อการร้ายไอซิส ยิงด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีต่อสู้อากาศยานแบบเสตรลา (Strela) ที่ผลิตในรัสเซีย ขณะออกปฏิบัติการในอิรัก เมื่อปี 2558 แต่จรวดนำวิถีดังกล่าว ไม่สามารถเข้าถึงเครื่องบินได้ เนื่องจากมีระบบปล่อยเป้าลวง ป้องกันตัวเอง เมื่อครั้งสงครามทะเลทราย มีลำหนึ่งถูกยิงด้วยอาวุธปลอยนำวิถีต่อสู้อากาศยานรุ่นหนึ่ง โดนปีกซ้ายทะลุ เสียหายหนัก แต่เนื่องจากมีระบบไฮดรอลิกส์สำรอง ทำให้นักบินสามารถนำเครื่อง กลับไปลงจอดยังฐานบินได้อย่างปลอดภัย และอย่างน่าอัศจรรย์
จะเห็นได้ว่า "หมูป่าเขี้ยวตัน" นั้นสารพัดพิษ และสารพัดประโยชน์ และ ยังเป็น อีก "ไอค่อน" หนึ่งของยุคสงครามเย็น ไม่ต่างกับเครืองบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ บี-52
"มันเป็นเครื่องบินรบที่เจ๋งมาก (badass) มีปืนกระบอกใหญ่อยู่บนนั้น" สำนักข่าวเอพี รายงานอ้างวุฒิสมาชิกมาร์ธา แม็คซัลลี (Martha McSally) อดีตนักบิน วุฒิสมาชิกแห่งรัฐแอริโซนา ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเครื่องบินที่เคยขับ ทั้งยัง เคยเป็นผู้บังคับฝูง โดยยืนยันว่าวอร์ธฮ็อกไม่เหมือนเครื่องบินรบรุ่นอื่นใด
ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปราบรถถัง แต่ "หมูป่า" ถูกใช้งานมากกว่านั้่น ในภารกิจยิงสนับสนุนการรบภาคพื้นดิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งทหารราบ และ นาวิกโยธินต้องการมากที่สุด คล่องตัว รวดเร็ว มีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และ ได้ผลดียิ่งกว่า ใช้เครื่องบิน C-130 ติดปืน เสียงปฏิบัติการของหมูป่าเขี้ยวตัน เสมือนเสียงไซเรนกู้ภัย กลายเป็นอากาศยานช่วยชีวิตทหารราบในยามคับขัน ในยามถูกศัตรูปิดล้อม หรือ ในยามที่ต้องบุกทะลวงแนวหน้าฝ่ายตรงข้ามอย่างยากลำบาก และ มีอัตราเสี่ยงสูง.
3
4
5
6
สามารถพูดได้ว่า ในสงครามอิรักกับสงครามอัฟกานิสถานช่วงที่ผ่านมา หมูป่าเขี้ยวตันช่วยรักษาชีวิตทหารเอาไว้ เป็นจำนวนร้อยๆ หรือ พันๆ คน
แอริโซน่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่สุด ในรัฐนี้เพียงรัฐเดียว มี "หมูป่า" อยู่ถึง 10 ฝูง ที่ฐานทัพอากาศเดวิส-มอนธาน (Davis-Monthan Air Force Base) หากปลดระวาง ก็อาจต้องปิดฐานทัพใหญ่แห่งนี้ ซึงจะมีคนว่างงานทันทีอีกหลายพัน แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลหลัก ในการเสนอต่ออายุประจำการสัปดาห์นี้
ถึงแม้ว่า A-10 จะถูกสร้างขึ้นมา เพื่อภารกิจโจมตีสนับสนุนภาคพื้นดินอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะ แต่ก็ไม่ใช่เครื่องบินโจมตีรุ่นแรก ที่ปฏิบัติภารกิจนี้ หากมีเครื่องบินรบรุ่นเคยทำหน้าที่นี้มาก่อน รวมทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเครื่องบินใบพัดเดียว "ธันเดอร์โบลต์" ที่ A-10 นำชื่อมาใช้ในวันนี้ ก็เคยทำหน้าที่เดียวกัน
สหรัฐปิดสายการผลิต A-10 มาตั้งแต่ปี 2527 ซึ่งในครั้งนั้น หมายมั่นปั้นมือว่า จะให้ F-16 เครื่องบินรบไอพ่นความเร็วเหนือเสียงรุ่นใหม่ เข้าทำหน้าที่แทน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงกระนั้นหลังจากผ่าน F-16 มาได้ แต่ต้องมาเจอด่านที่สอง และ ครั้งนี้ผู้ท้าทาย เป็นเครื่องบินรบยุคใหม่ล่าสุด ทันสมัยที่สุด คือ F-35
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้กล่าวว่า F-35 ไม่ใช่ยาบวดหาย ที่สามารถรักษาได้ทุกโรค พร้อมทั้งมีการท้าทายให้ประชันความสามารถกัน ในการโจมตีทางอากาศสนับสุนภาคพื้นดินระยะประชิด ระหว่างอากาศยานทั้งสองรุ่น .. นักเลงโบราณกับโก๋ยุคใหม่ โดยหวังว่าจะได้เห็นกันอย่างช้าก็ปลายปีนี้
แต่เหตุการณ์์นั้นคงไม่เกิดขึ้นแล้ว.