เอเอฟพี - ทหารพม่ายื่นฟ้องนักข่าวท้องถิ่น 2 ราย ด้วยการใช้กฎหมายเซ็นเซอร์กับบทความที่นักข่าวเขียนวิพากษ์วิจารณ์เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความหวาดวิตกที่ขยายตัวขึ้นเกี่ยวกับการควบคุมเสรีภาพสื่อ
ทหารยังคงกุมอิทธิพลมหาศาลในการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศ และมีประวัติยาวนานเกี่ยวกับการติดตามจับตาบรรดานักวิจารณ์ ทั้งในช่วงการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร และตั้งแต่ที่บรรดานายพลยกอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเรือน
เหตุการณ์ล่าสุดที่สร้างความไม่พอใจให้แก่ฝ่ายทหาร คือ บทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ The Voice เมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่โจมตีภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อที่ชื่อว่า “Pyi Daung Su Thit Sar” (Faithful to the Union) ที่ยกย่องชัยชนะของกองทัพเหนือกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ โดยบทความมุ่งเป้าไปยังนายทหารระดับสูงที่มักใช้เวลานั่งหารือสันติภาพ และดื่มไวน์ ขณะที่นายทหารชั้นผู้น้อยถูกสังหารเสียชีวิต
กอ ซา นาย ผู้ที่เขียนบทความด้วยนามปากกา กล่าวว่า เขาจะรายงานตำรวจเกี่ยวกับคดีที่ถูกยื่นฟ้องด้วยกฎหมายโทรคมนาคมที่มักถูกนำใช้ในการฟ้องร้องดำเนินคดีบ่อยครั้งมากขึ้น
“ผมตัดสินใจว่า ผมจะไม่ขอโทษพวกเขาสำหรับบทความของผมชิ้นนี้ มีการต่อสู้เกิดขึ้นทุกที่ และทหารชั้นผู้น้อยมักเสียชีวิตขณะที่พวกผู้นำนั่งอยู่หลังโต๊ะ” กอ ซา นาย ที่ถูกฟ้องพร้อมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ กล่าว
มี้น กอ จากสภาสื่อพม่า กล่าวว่า ฝ่ายทหารมองว่าบทความดังกล่าวสร้างความแตกแยกระหว่างทหารระดับสูง และระดับล่าง
กรณีนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาล และกองทัพพม่าเพิ่มสูง ด้วยกองทัพยังคงคุมคานอำนาจสำคัญ แม้พรรค NLD ของซูจี จะชนะการเลือกตั้งในปี 2558 แล้วก็ตาม
เมื่อต้นเดือน ผู้ช่วยอาวุโสคนหนึ่งของซูจี ได้กล่าวหาว่า ทหารแพร่ข่าวลือทำลายเสถียรภาพของพรรค NLD ทำให้ฝ่ายทหารตอบโต้อย่างโกรธเคือง
ความคาดหวังที่สูงลิ่วว่าพรรคของอองซานซูจี ที่หลายคนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเคยถูกจำคุกหลายสิบปีในสมัยรัฐบาลเผด็จการทหาร จะเร่งนำพาพม่าเข้าสู่ยุคใหม่ของเสรีภาพในการพูดแสดงความคิดเห็น แต่การฟ้องร้องหมิ่นประมาทกลับเพิ่มสูง นับตั้งแต่พวกเขาเข้าบริหารประเทศในเดือน มี.ค.2559 โดยที่นักวิจารณ์เสียดสีทางสื่อสังคมออนไลน์ นักเคลื่อนไหว และนักข่าวต่างตกเป็นเป้าโจมตี.