MGRออนไลน์ -- กองทัพสหรัฐจะเริ่มแจกจ่ายปืบพกมาตรฐาน (Standard Side-arms) รุ่นใหม่ ให้แก่กำลังพลกองพลแรกในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นอีกยุคหนึ่ง สิ้นสุดยุค 30 ปีของปืนพก M9 ขนาด 9 มม. ของเบเร็ตตา (Beretta) ปืนตระกูลอิตาเลียนผลิตในสหรัฐ ที่ใช้งานมานานตั้งแต่ยุคหลังสงครามเวียดนาม และ ก้าวสู่ยุคทองของซิกซาวเออร์ (SigSauer) P320
ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกระบวนการจัดหา ปืนพกมาตรฐานรุ่นใหม่ ที่มีชื่อเรียกว่า Army's New Modular Handgun System หรือ MHG ที่ดำเนินมาหลายปี จนกระทั่งประกาศผลการคัดเลือก ในเดือน ม.ค.ปีนี้่
กองทัพจะไม่รอจนกระทั่งทราบผลการพิจารณา การร้องเรียนหรือประท้วง อันเป็นสิทธิ์ตามกฎหมาย ของปืนกล็อก (Glock) ที่พ่ายแพ้ ในการคัดเลือก ซึ่งได้ผลสรุปออกมาว่า P320 ปืนพกตระกูลเยอรมัน-สวิส ผลิตในสหรัฐ ชนะ Glock-17 กับ Glock 19 ที่ผลิตจากประเทศออสเตรียในทุกๆ ด้าน ตามความต้องการที่ระบุในโครงการจัดหา มูลค่า 580 ล้านดอลลาร์ มีรายงานเรื่องนี้ในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายแห่ง ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา อ้างโฆษกผู้หนึ่งของกองทัพบกสหรัฐ
โฆษกคนดังกล่าวไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับขนาดของกระสุน กับ ชุดยิงที่ใช้ โดยระบุเพียงขนาดของปืนที่จะแจกจ่ายในรอบแรก ที่ต่อไปนี้จะมีชื่อเรียกว่า XM17 ซึ่งเป็นปืนพกมาตรฐาน "ฟูลไซ้ส์" ลำกล้อง 4.7 นิ้วขึ้นไป กับ XM18 ที่มีขนาดลำกล้อง 3.9-4 นิ้ว ล ดหลั่นลงไป เรียกกันทั่วไปว่า "คอมแพ็กท์ แฮนด์กัน" หรือ "ปืนพกขนาดคอมแพ็กท์" หรือ ปืนพกขนาดกลาง เนื่องจากยังมีการผลิตปืน "ซับ-คอมแพ็กท์" ขนาดลำล้อง 1-2 นิ้วออกมาสู่ตลาดหลายรุ่นในปัจจุบัน สำหรับการซุกซ่อนพกพา
อย่างไรก็ตามสเป็กของบริษัทผู้ผลิตนั้น "ซิก" P320 สามารถถอดเปลี่ยนชุดยิง ที่ใช้กับกระสุนได้หลายขนาด ในเฟรมหรือโครงปืน กระบอกเดียวกัน ทั้ง 9 มม. และ .40 (10 มม.) รวมทั้ง 11 มม. แต่ขนาดของกระสุนที่จะใช้ มีขนาดใดบ้าง ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันไม่จบสิ้นสุด นับตั้งแต่ทหารบกหน่วยที่ใช้มากที่สุด บ่นกันว่ากระสุน 9 มม. มีอำนาจหยุดยั้งไม่เพียงพอ ทำให้ต้องยิงซ้ำหลายนัด สิ้นเปลือง เป็นอันตรายต่อกำลังพลด้วย
ผู้เชี่ยวชาญของกองทัพจำหนวนหนึ่ง กล่าวก่อนหน้านี้ว่า อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้กระสุน 11 มม. แบบปืนพกมาตรฐาน M1911 ที่ใช้มาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะเปลี่ยนปืนใหม่ มาเป็น M-9 กระสุน 9 มม.ตามมาตรฐานนาโต้
.
.
แต่เป็นที่ชัดเจนในขณะนี้่ว่า ทั้ง XM17 และ XM18 ล็อตแรก ที่ติดศูนย์เล็งแบบจุดไทรเทียม (Tritium-Dot) ทั้งหน้าและหลัง จะใช้กระสุน 9 มม.มาตรฐานเหมือนเดิม โดยแจกจ่ายพร้อมซองบรรจุกระสุน หรือแม็กกาซีน 3 ซอง ขนาดมาตรฐานบรรจุ 17 นัด 1 ซอง และ ซองแบบต่อให้ยาวขึ้นอีก 2 ซอง ทำให้บรรจุได้ 21 นัด (โปรดดูภาพประกอบ) เจ้าหน้าที่หน่วยงานรับผิดชอบของกองทัพบก กำลังพัฒนาซองปืนรุ่นใหม่ เพื่อใช้กับปืน MHS โดยเฉพาะ
ตามรายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมในสหรัฐ กองทัพบกจะต้องใช้ปืนพก MHS ถึง 195,000 กระบอก และ ได้ประกาศแจกจ่าย P320 ให้แก่หน่วยรบแรก เป็นกองพลอากาศโยธิน 101 (101th Airborne Division) ในสังกัด แต่ยังไม่ทราบจำนวนที่ต้องการในล็อตแรกของกองกำลังอื่นๆ ขณะนี้
P320 ยังสามารถถอดเปลี่ยน "ประกับมือ" ได้โดยง่าย ทำให้เหมาะกับขนาดอุ้งมือของผู้ใช้หลากหลายขนาด แบบเดียวกับที่ใช้ใน S&M M&P9 ของสมิธแอนด์เวสสัน ที่เคยทำให้ตลาดปืนกล็อกในสหรัฐ ได้รับผลกระทบไม่น้อย จนต้องหันมาพัฒนาตามกันไปใน Glock Gen 4 ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นล่าสุด
แต่ P320 ได้ชื่อเป็นปืนที่ "ปรับเปลี่ยนได้" (Modular) เพียงรุ่นเดียว ที่มีในตลาดขณะนี้ ต่างไปจากคู่แข่งอื่นๆ อีก 6 ราย ที่ผ่านการพิจารณาในรอบการสรรหา ทั้งกล็อกและสมิธฯ ยังไม่มีตัวอย่างนำเสนอ ระหว่างการประกวดราคา และ M&P9 ก็ไม่ผ่านการพิจารณาตั้งแต่รอบแรก ทำให้ Glock ต้องประชันกับ P320 ซีซี (CZ) P09 และ เบเร็ตตา PX ในรอบตัดเชือก
ปืน MHS ของกองทัพสหรัฐ ต้องสามารถติดตั้งอุปกรณ์เก็บเสียง และ อุปกรณ์พ่วงต่างๆ ได้อีกหลายรายการ รวมทั้งระบบออพติกในการช่วยเล็ง ระบบไฟส่องเป้า ฯลฯ เช่นเดียวกับปืนสมัยใหม่ โดยไม่ต้องโมดิฟายอะไรอีก
.
2
พ.อ.สตีเวน พาวเออร์ (Steven Power) ซึ่งทำหน้าที่เป็นโปรดักส์แมเนเจอร์ ตรวจตราอาวุธปืนที่ส่งเข้าสู่การพิจารณา เคยกล่าวถีง P320 ว่า เป็นปืนพกที่ "อานุภาพรุนแรงมากขึ้น จับเป้าหมายได้เร็ว (ด้วยศุนย์เล็งแบบไทรเทียม) มีความเชื่อถือได้มากยิ่งขึ้น"
นายทหารคนเดียวกันนี้กล่าวว่า เป็นนโยบายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่จะให้กำลังพลสามารถใช้กระสุนได้หลายขนาด รวมทั้งกระสุนที่ใช้ในจุดประสงค์พิเศษ เช่น กระสุนหัวกลวงหุ้มโลหะ (Jacketed Hollow-Point) ของวินเชสเตอร์ โดยจะมีการพิจารณากัน เป็นขั้นตอนต่อไป
ตามแผนการจัดหาของกองทัพสหรัฐนั้น ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ รวมทั้งเหล่านาวิกโยธิน จะต้องใช้ปืน MHS เป็นจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 421,000 บอก ตลอดระยะเวลาการส่งมอบตามสัญญา 10 ปีข้างหน้า
ตามตัวเลขที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ นอกจากกองทัพบกแล้ว กองทัพอากาศแสดงความประสงค์จัดหา P320 รุ่นต่างๆ 130,000 กระบอก กองทัพเรือ 61,000 กระบอก เป็นรุ่น XM18 ทั้งหมด ส่วนเหล่านาวิกโยธิน 35,000 กระบอก แต่ในระยะ 10 ปีข้างหน้า จำนวนอาจจะเพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 500,000 กระบอก
กล็อกยูเอสเอผู้นำเข้า และจำหน่ายในสหรัฐ รวมทั้งนำปืนกล็อกเข้าสู่การแข่งขันในครั้งนี้ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการจัดหา ซึ่งได้นำเรื่องร้องเรียนส่งต่อไปยัง อีกหน่วยงานหนึ่งที่กำกับดูแลธรรมาภิบาลกับความโปร่งใส และ คาดว่าจะทราบผลต้นเดือนหน้านี้ แต่กองทัพสหรัฐ สามารถดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเช่นเดียวกัน. [โปรดอ่านรายละเอียดอื่นๆ และ กระบวนการจัดหาใน "ข่าวที่เกี่ยวข้อง"]