MGRออนไลน์ -- นานมากที่เดียวที่ทางการลาว ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยว เข้าชมภายในพระอุโบสถ หรือ "สิม" ภายในวัดสีสะเกด นครเวียงจันทน์ วัดที่มีความผูกพันกับราชอาณาจักรสยามมากที่สุด ในช่วงประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินตอนต้น ซึ่งในปัจจุบันได้กลายเป็นหอพิพิธภัณฑ์ ใช้เก็บพระพุทธรูปและโบราณวัตถุล้ำค่าจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับหอพระแก้ว ที่ยู่คนละฝั่งถนนกัน และ เคยเป็นพระอารามสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง เป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต
ต่างกับวัดพระแก้วในอดีต ที่ถูกเผาจนวอดวาย วัดสีสะเกดเป็นวัดใหญ่เพียงไม่กี่แห่ง ที่รอดพ้นเงื้อมมือแม่ทัพสยาม ในคราวโน้น -- ส่วนจะมีการเผาจริงหรือไม่ได้เผา? หรือ ทำไมต้องเผากันให้วายวอดถึงขนาดนั้น? เราจะไม่กล่าวถึงเรื่องนี้ เพราะพูดกันมากแล้ว และ สาธารณชนทั่วไป ยังสามารถหาอ่านศึกษาได้ ทั้งในเว็บไซต์ และ ตำราประวัติศาสตร์ ทั้งจากมุมมองของฝ่ายลาวและฝ่ายไทยในปัจจุบัน
ในขณะที่สาธารณชนได้มีโอกาสเข้าชมหอวัดพระแก้วอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้มีการฟื้นฟูบูรณะใหม่ในเฟสแรก เมื่อไม่นานมานี้ วัดสีสะเกดยังคงปิดพระอุโบสถหลังนี้ต่อไป โดยเปิดให้ชมได้เฉพาะระเบียงคด หรือ "กมมะเลียน" โดยรอบ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ที่มีพุทธลักษณ์เหมือนกัน รุ่นเดียวกัน มีขนาดเท่าคนจริง จำนวน 120 องค์ กับสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ในอาณาบริเวณวัดเก่าแก่เท่านั้น
อย่างไรก็ตามภาพชุดหนึ่ง ที่เผยแพร่ในเฟซบุ๊กของ นายสุริอุดง สุนดารา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อไม่กี่วันมานี้ ได้เปิดเผยให้เห็นความโออ่าภายในพระอุโบสถ หลวงพ่อพระประธาน และ พระพุทธรูปปางลีลา กับพระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามญาติ ที่มีความงดงาม รวมทั้งประพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะบายนอีกองค์หนึ่ง ที่เชื่อกันว่าเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 กับพระพุทธรูปขนาดเล็ก สีเหลืองเรืองรองอีกเป็นจำนวนมาก
ภาพล่าสุดนี้ ยังเผยให้เห็นพระพุทธรูปหลายขนาด ที่ชำรุดหักพัง โดยแบ่งส่วนหนึ่งของพระอุโบสถ เป็นที่กั้นเก็บรวมกันไว้ พระพุทธรูปชำรุดเหล่านี้ ส่วนใหญ่พบระหว่างการบูรณะปฏิสังขรณ์ก่อนหน้านี้ เป็นโบราณวัตถุล้ำค่า ที่ตีตราหรือมีหมายเลขลงทะเบียน กำกับเอาไว้ทั้งสิ้น
เป็นพิเศษในภาพชุดนี้ก็คือ ส่วนหนึ่งของภาพเขียนสี หรือ จิตกรรมฝาผนังอันงดงาม ที่อยู่สลับกับช่องหน้าต่าง บนผนังพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน อันเป็นงานศิลปะที่ขึ้นชื่อของวัดแห่งนี้ ซึ่งสาเหตุหลักที่ต้องปิดพระอุโบสถ ลั่นกุญแจเแอาไว้เกือบตลอดเวลา ก็ด้วยเกรงว่าแสงแดดแห่งฤดูกาล กับแสงแฟลชจากการถ่ายภาพ จะทำให้ภาพเขียนสี เสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วนั่นเอง
พระอุโบสถวัดสีสะเกดจะเปิด เมื่อมีกิจกรรมในโอกาสสำคัญต่างๆ แต่จะห้ามถ่ายภาพภายในตลอดมา
.
2
3
4
5
6
ทั้งหมดนี้มีให้ได้ชมกันอีกครั้งในเฟซบุ๊กของรัฐมนตรีลาว ที่ถ่ายภาพภายใน และ ภายนอกพระอุโบสถ เนื่องในโอกาสส่งมอบงานฟื้นฟูบูรณะภาพเขียนสี อันเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนด้านทุนรอน จากสถานทูตเยอรมนี ในภาพแสดงให้เห็นนายบัวเงิน ซาพูวง รองรัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เป็นประธานในพิธีรับมอบ
"ພິທີມອບຮັບໂຄງການ 04 ປີແຫ່ງການບູລະນະປະຕິສັງຂອນ ຮູບແຕ້ມຕາມຝາສິມວັດສີສະເກດ ໂດຍໄດ້ຮັບທຶນການສະໜັບ ສະໜູນຈາກ ສະຖານທູດປະເທດເຢຍລະມັນປະຈຳ ສປປລາວ" ສາທຸ ສາທຸ ອະນຸໂມທາມິ.. นายสุริอุดง เขียนอธิบายภาพเหตุการณ์ ในเฟซบุ๊ก แต่เพียงสั้นๆ เมื่อวันที่ 6 พ.ค.
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ พิธีรับมอบจัดขึ้นวันศุกร์ 5 พ.ค. ระหว่างนายไมเคิล เกรา (Michael Grau) เอกอัครรัฐทูตเยอรมนีประจำลาว กับ รมช.กระทรวงแถลงข่าวฯ ของลาว โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก การฟื้นฟูบูรณะภาพเขียนสี ได้รับความช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากฝ่ายเยอรมนี เป็นมูลค่า 219,000 ยูโร (456,3000 บาทเศษ) โดยความร่วมมือ ระหว่าง "ช่างเขียนเยอรมัน และ สากล รวมทั้งนักวิจิตรศิลป์ของลาว"
ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถเสียหาย อย่างหนักหน่วง "ด้วยสาเหตุจากปัจจัยทางความชื้น และการตกผลึกของเกลือ ที่ซึมขึ้นจากผิวดิน.." จนถึงปี 2557 จึงได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
แต่การฟื้นฟูบูรณะวัดเก่าแห่งนี้โดยรวม ดำเนินมาเป็นก่อนหน้านี้หลายปี เพื่อฉลองครบรอบ 190 ปีการก่อสร้าง และ เฉลิมฉลองครบรอบ 450 ปี นครเวียงจันทน์ เมื่อปี 2553 โดยเริ่มจากการบูรณะหอไตร ที่ล้ำจากแนวรั้วของวัดออกไป บนทางเท้าถนนล้านช้าง และการบูรณะอาณาบริเวณโดยรอบ จนถึงภายในพระอุโบสถ เป็นการเริ่มทศวรรษแห่งการฟื้นฟูบูรณะวัดสีสะเกด
.
7
8
9
10
11
12
13
ตามประวัติความเป็นมานั้น วัดสีสะเกด สร้างขึ้นในปี 2361 โดยพระเจ้าอะนุวง (ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย) จากการบูรณะวัดเก่าแห่งหนึ่ง และ จัดสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ชื่อใหม่ของวัดเป็นการนำเอาคำว่า "สี" หรือ "ศรี" ไปใช้เป็นอุปสรรค (Prefix) นำหน้าชื่อของวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีมาก่อน ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอุยธยาเป็นราชธานี และ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูบูรณะขึ้นมา
นั่นคือช่วงปีที่กรุงเวียงจันทน์ อยู่ในยุครุ่งเรืองสุดขีดอีกครั้งหนึ่ง หลังจาก "เจ้าอะนุวง" ได้รับอนุญาตจากกรุงสยาม ให้กลับไปครองแผ่นดินบ้านเกิด
จารึกที่ประตูทางเข้าวัดสีสะเกดด้านหนึ่ง ได้บันทีกเกี่ยวกับการ "จ้าง" ช่างเขียนภาพสี ที่บอกเล่าเรืองชาดกและทศชาติ ทั้งภายในพระอุโบสถ และ ในกมมะเลียน รวมทั้งเขียนลายรดน้ำที่บานประตู เข้าพระอุโบสถ ซึ่งเห็นได้ชัดถึงอิทธิพลทางด้านศิลปะจากรัตนโกสินทร์ และ ทำให้เข้าใจกันว่า พระเจ้าอะนุวงได้ทูลขอช่างจากราชสำนักสยาม ไปร่วมในการก่อสร้างด้วย
รูปลักษณ์ของพระอุโบสถวัดสีสะเกด ต่างจากวัดลาวทั่วไป เป็นหลังคา 4 ชั้น ซึ่งไม่ใช่ศิลปะล้านช้าง หรือ ศิลปะยุคใดในลาว หากเป็นศิลปะกรุงรัตนโกสิน และ จะเข้าใจเรื่องนี้ไม่ยาก หากนำไปเทียบกับพระอุโบสถวัดสะเกศฯ จึงทำให้ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์สายหนึ่ง ลงความเห็นว่า อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้วัดสีสะเกด รอดพ้นจากการเผาทำลายกรุงเวียงจันทน์ครั้งที่ 2 ของกองทัพสยามในปี 2370 หรือ 9 ปีต่อมา.