รอยเตอร์ - นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า ปฏิเสธคำเชิญพบหารือกับเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตัน สัปดาห์นี้ พร้อมกับนักการทูตชั้นนำจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่พม่าวันนี้ (2)
ซอ เต ผู้อำนวยการสำนักงานของนางอองซานซูจี ระบุว่า ซูจี ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า และในขณะเดียวกัน ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำที่แท้จริงของรัฐบาลพลเรือนของประเทศ จะส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปแทน
การหารือที่วอชิงตันมีขึ้นท่ามกลางสัญญาณของชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่รวมทั้งพม่า ต่างกำลังโน้มเอียงไปทางจีน ขณะที่นโยบายของฝ่ายบริหารของทรัมป์ เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังไม่ชัดเจน
รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนมีกำหนดพบหารือกับทิลเลอร์สัน ในวันพฤหัสบดี (4) เพื่อหารือเกี่ยวกับการค้า การอ้างสิทธิดินแดนในทะเลจีนใต้ และอาชญากรรม รวมทั้งประเด็นอื่นๆ
อาเซียนก้าวถอยจากการเน้นย้ำถึงข้อพิพาททางทะเลระหว่างชาติสมาชิกในกลุ่ม และจีนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเมื่อสุดสัปดาห์ ขณะที่ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ พยายามสานสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปักกิ่งมากยิ่งขึ้น
ประธานาธิบดีถิ่น จอ ของพม่า ใช้เวลา 6 วันในจีนเมื่อเดือนก่อน และได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับท่อส่งน้ำมันที่พาดผ่านพม่าไปยังพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และซูจี มีกำหนดเยือนกรุงปักกิ่ง เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุมเส้นทางสายไหมเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ กลางเดือน พ.ค.นี้
“ที่ปรึกษาแห่งรัฐจะไม่เดินทางไปสหรัฐฯ เพราะมีประชุมอีกนัดหนึ่งกับสหภาพยุโรปในวันนั้น” ซอ เต กล่าว
ซูจี เดินทางถึงกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันจันทร์ (1) ที่เป็นปลายทางแรกของการเดินทางเยือนยุโรปอย่างเป็นทางการ และมีกำหนดเยือนอังกฤษ และอิตาลี เป็นปลายทางลำดับถัดไป
ต่อง ทุน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของพม่า จะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตันแทนนางอองซานซูจี ซอ เต ระบุ
นักการทูตในนครย่างกุ้งกล่าวว่า นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีต่อพม่ายังไม่่มีความแน่นอน
ซูจี เข้าครองอำนาจในปี 2559 จากการชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย หลังอดีตผู้นำทหารเริ่มการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซูจี เดินทางเยือนสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. เมื่อโอบามาตกลงที่จะยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่เหลืออยู่ทั้งหมดแก่พม่า แต่นับตั้งแต่นั้นพม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากชาติตะวันตกจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา
กอ เซยา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ซูจี ไม่ได้วางแผนที่จะเยือนสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้นี้
แต่กอ เซยา ได้ปฏิเสธความคิดที่ว่าการไม่ปรากฏตัวที่วอชิงตันของซูจี เป็นการเอาใจจีน โดยระบุว่าพม่านั้นแสวงหาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกประเทศ
“เราไม่ได้ส่งเสริมความสัมพันธ์กับประเทศหนึ่งด้วยการทำลายความสัมพันธ์กับอีกประเทศหนึ่ง” กอ เซยา กล่าว.