xs
xsm
sm
md
lg

พม่าวางแผนย้ายโรฮิงญาอยู่ “หมู่บ้านต้นแบบ” ให้เป็นระบบ สหประชาชาติหวั่นก่อความตึงเครียดอีกระลอก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เด็กชายชาวโรฮิงญานั่งอยู่บนซากบ้านที่ถูกเผาทำลาย  ใกล้เมืองสิตตเว ของรัฐยะไข่ ทางการพม่ามีแผนที่จะย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญาที่ไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากเหตุรุนแรง ไปยังหมู่บ้านต้นแบบที่เป็นระบบมากขึ้น แต่ชาวบ้านต่างหวาดวิตกว่าพวกเขาจะลงเอยที่ค่ายผู้ลี้ภัย ขณะที่สหประชาชาติกังวลว่าแผนของรัฐบาลอาจทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น. -- Reuters/Soe Zeya Tun.</font></b>

รอยเตอร์ - หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติได้วิพากษ์วิจารณ์แผนของรัฐบาลพม่าที่จะย้ายชาวโรฮิงญาที่ไร้ที่พักอาศัยเนื่องจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ไปอยู่ในหมู่บ้านที่มีลักษณะคล้ายค่าย โดยระบุว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะก่อความตึงเครียด

แผนการย้ายชาวโรฮิงญาดังกล่าวที่ได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง ได้ก่อให้เกิดความหวาดวิตกในหมู่ประชาชนว่าพวกเขาอาจลงเอยที่ค่ายผู้ลี้ภัย ตามเอกสารของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในพม่า

การโจมตีด่านชายแดนในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน โดยกลุ่มก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา ได้จุดชนวนวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดในปีของการปกครองพม่าของนางอองซานซูจี ซึ่งกองกำลังรักษาความมั่นคงถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุสังหารหมู่ และรุมข่มขืนชาวโรฮิงญาระหว่างปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

ชาวโรฮิงญา ประมาณ 75,000 คน หลบหนีข้ามแดนเข้าไปในเขตของบังกลาเทศเพื่อหลีกหนีความรุนแรง ซึ่งในระหว่างนั้นมีบ้านอย่างน้อย 1,500 หลัง จากหลายหมู่บ้านถูกเผาทำลาย

ผู้อพยพบางส่วนที่หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศได้เดินทางกลับมาฝั่งพม่า และสร้างที่พักชั่วคราว แต่ทางการห้ามพวกเขาสร้างบ้านถาวร โดยอ้างเหตุผลถึงข้อจำกัดด้านความมั่นคง ตามการระบุของชาวบ้านที่พูดคุยกับรอยเตอร์ และในเอกสารของสหประชาชาติ

ทางการได้ออกแบบวางแผนที่จะย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญา 1,152 ครัวเรือน จาก 13 หมู่บ้านเล็กๆ ไปยัง “หมู่บ้านต้นแบบ” ที่มีขนาดใหญ่กว่า และจัดการได้มากกว่า โดยในเอกสารสนับสนุนความยาว 3 หน้า ลงวันที่ 25 เม.ย. และส่งตามหน่วยงานด้านมนุษยธรรมเมื่อวันพุธ (26) UNHCR เตือนว่าแผนดังกล่าวอาจสร้างความตึงเครียดยิ่งขึ้นในหมู่บ้านที่เพิ่งประสบกับความรุนแรง

“ตามข้อมูลที่ได้รับเกี่ยวกับหมู่บ้านต้นแบบ เราได้รับทราบถึงความวิตกกังวลของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เน้นย้ำถึงความสำคัญในการอนุญาตให้ชุมชนพลัดถิ่นกลับไปสู่ภูมิลำเนาเดิม และเข้าถึงแหล่งการดำรงชีวิตก่อนหน้านี้ของพวกเขา” โฆษก UNHCR ในพม่า ระบุ

โรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน อาศัยอยู่ในสภาพคล้ายถูกแบ่งแยกในรัฐยะไข่ ของพม่า ที่ชาวพม่าส่วนใหญ่ในประเทศมองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายมาจากบังกลาเทศ

ขณะที่โฆษก UNHCR กล่าวว่า สำนักงานฯ เข้าใจว่าแผนยังอยู่ในฉบับร่าง แต่ทิน หม่อง ส่วย เลขารัฐบาลรัฐยะไข่ระบุว่า ฝ่ายบริหารท้องถิ่นพร้อมเริ่มดำเนินการแผนดังกล่าว

ทิน หม่อง ส่วย กล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นประโยชน์ของประชาชน ด้วยหมู่บ้านต้นแบบจะอยู่ใกล้กับบริการของรัฐมากขึ้น เพราะหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในพื้นที่ชนบททางเหนือของรัฐยะไข่เวลานี้จัดการอย่างไม่เป็นระบบแบบแผน

“หากหมู่บ้านเหล่านี้ไม่เป็นระบบ พวกเขาจะไม่พัฒนา การสร้างโรงพยาบาล โรงเรียน และสถานีตำรวจ จะกลายเป็นเรื่องยาก รวมทั้งการดูแลความปลอดภัยในพื้นที่” ทิน หม่อง ส่วย กล่าว

ตามการระบุในเอกสารของ UNHCR และการเปิดเผยของชาวบ้าน พบว่า รัฐบาลได้เริ่มจัดเตรียมพื้นที่สำหรับหมู่บ้านต้นแบบ ที่แต่ละครัวเรือนจะได้ที่ดินขนาด 220 ตารางเมตร และเงินประมาณ 150 ดอลลาร์เพื่อสร้างบ้าน

ชาวบ้านกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติ ว่า พวกเขากลัวที่จะสูญเสียการเข้าถึงที่ดินทำกินและแหล่งจับปลา และติดอยู่กับสิ่งที่เหมือนจะกลายเป็น “ค่ายผู้พลัดถิ่น” เอกสารของ UNHCR ระบุ

“การบังคับย้ายถิ่นฐานไปยังหมู่บ้านต้นแบบจะไม่ช่วยให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่เหล่านี้” เอกสาร ระบุ

ชาวโรฮิงญาประมาณ 120,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐยะไข่ พึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 ซึ่งนางอองซานซูจี ได้ให้คำมั่นว่าจะเริ่มปิดค่ายเหล่านี้ หลังได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ

ชาวบ้าน 5 คน ที่บ้านพักถูกเผาทำลายในเดือน พ.ย. กล่าวต่อรอยเตอร์ทางโทรศัพท์ถึงสภาพความเป็นอยู่นับตั้งแต่ความรุนแรงบรรเทาลงว่า พวกเขารู้สึกกังวลเกี่ยวกับแผนของรัฐบาล

“หมู่บ้านที่นี่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเพราะบ้านทุกหลังถูกเผาจนหมด” ชาวบ้านอายุ 32 ปี กล่าว

ก่อนหน้านี้ รอยเตอร์ได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงพม่าหลายสิบคน เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่ พยานระบุว่า กองกำลังทหารได้ก่อเหตุข่มขืนหญิงโรฮิงญา ฆ่าพลเรือน และเผาบ้านในการกวาดล้างหมู่บ้านในเดือน พ.ย. ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมยังเผยให้เห็นว่าบ้านหลายร้อยหลังถูกเผาทำลาย

แต่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ และกล่าวโทษผู้ก่อความไม่สงบ และชาวบ้านถึงเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น

ชาวบ้านกล่าวว่า แม้สถานการณ์ในพื้นที่เวลานี้ค่อนข้างสงบ แต่ด่านตรวจ และการห้ามออกจากเคหสถานเวลากลางคืนระหว่างเวลา 21.00-5.00 น. ยังคงมีอยู่ ส่วนทหารยังคงลาดตระเวนใกล้หมู่บ้าน ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับชาวบ้านที่จะไปไร่นา ฟาร์มกุ้ง หรือคลินิกสุขภาพในพื้นที่

ชาวบ้านบอกต่อรอยเตอร์ว่า พวกเขากลัวว่าที่ดินในแหล่งที่อยู่อาศัยใหม่จะเล็กเกินไปสำหรับสำหรับหลายๆ ครัวเรือน ที่มักประกอบด้วยกลุ่มครอบครัวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป

“รัฐบาลบอกแก่เราว่า แผนของทางการมีเป้าหมายเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนอยู่อาศัยรวมกันอยู่ในที่เดียว ในหนึ่งหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ถนนสายหลัก แต่เราต้องการใช้ชีวิตในพื้นที่เดิมของเราอย่างแต่ก่อน” ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น