xs
xsm
sm
md
lg

ชาวพม่าค่อนประเทศยังไม่มีไฟใช้ หลายบ้านพึ่งโซลาร์เซลล์แก้ขัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เด็กพม่านั่งเรียนหนังสือใต้แสงไฟที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ในหมู่บ้านนองโคน หมู่บ้านเกษตรกรรมห่างไกลในเขตมะเกว พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนในพื้นที่ชนบทที่ระบบไฟฟ้าของรัฐยังเข้าไม่ถึง. -- Reuters. </font></b>

รอยเตอร์ - ประชาชนจำนวนมากในพม่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ยังคงอาศัยแสงสว่างจากเทียนไขทำกิจกรรมต่างๆ ในยามค่ำคืน เนื่องจากระบบโครงข่ายส่งกระแสไฟฟ้าของรัฐยังเข้าไม่ถึง แต่ชาวบ้านในหมู่บ้านนองโคน เขตแห้งแล้งทางภาคกลางของประเทศ กลับแตกต่างไปจากที่อื่น เพราะพวกเขามีไฟฟ้าใช้จากแผงโซลาร์เซลล์

การเข้าถึงไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์และไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวพม่าในหลายพันชุมชนทั่วประเทศ แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่านโยบายที่ไม่สนับสนุนและขาดความตั้งใจทางการเมืองกำลังขัดขวางการพัฒนาตลาดพลังงานหมุนเวียนนี้

ประชาชนมากกว่า 2 ใน 3 จากทั้งหมด 51 ล้านคนของประเทศ ยังไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าที่เชื่อถือได้และราคาไม่แพง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท ขณะที่รัฐบาลมุ่งความสนใจไปที่โครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาดใหญ่ ก๊าซ และถ่านหิน ที่นักวิจารณ์ระบุว่าเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมีค่าใช้จ่ายสูง

ชาวบ้านรายหนึ่งจ่ายเงิน 63,000 จ๊าต เพื่อติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใต้โครงการที่ดำเนินการโดย Pact องค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจต่างๆ ที่จะนำไฟฟ้าไปสู่ประชาชนนับล้านคนในพื้นที่ชนบทของพม่าภายในปี 2563

ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สาดส่องทั่วพื้นที่อยู่อาศัย ทำให้ชาวบ้านสามารถทำงานได้แม้ในเวลากลางคืน และครึ่งหนึ่งของหมู่บ้างนองโคนซื้อระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านโครงการของ Pact และ ในระยะที่สองของโครงการ Pact จะพัฒนาโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าขนาดเล็กภายในหมู่บ้านที่ไม่เชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้าของประเทศ

กว่าครึ่งศตวรรษภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร บรรดาผู้นำประเทศละเลยประชาชนของตัวเอง และปล่อยให้เกือบ 40,000 หมู่บ้าน ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่ปัญหาไฟดับก็ยังคงเกิดขึ้นแม้แต่ในพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายสายไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากการพึ่งพลังงานน้ำมากเกินไป

"เพราะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ตลาดสำหรับการแก้ปัญหาในระดับครัวเรือนขยายตัวมากขึ้น" คริส กรีเซน ที่ปรึกษาการส่งกระแสไฟฟ้าไม่เชื่อมต่อกับระบบ ที่ให้คำแนะนำแก่ธนาคารโลกและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ในพม่า กล่าว

ตามรายงานการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2557 ของพม่า ประมาณ 178,000 ครัวเรือนใช้กังหันน้ำเป็นแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้า ขณะที่ 945,000 ครัวเรือน ใช้แสงอาทิตย์ และอีก 1 ล้านครัวเรือนใช้เครื่องปั่นไฟดีเซล

Pact ระบุว่า พลังงานหนึ่งชั่วโมงจากเครื่องปั่นไฟดีเซลในพื้นที่ชนบท มีค่าใช้จ่ายเทียบได้กับ 24 ชั่วโมงของพลังงานไฟฟ้าในนครย่างกุ้ง แต่แม้เครื่องปั่นไฟจะมีราคาแพงเพียงใดก็ตาม แต่จากความชุกของการใช้งานก็แสดงให้เห็นถึงความเต็มใจของชาวบ้านที่ยอมจ่ายเพื่อให้ได้ใช้ไฟฟ้า

อ่อง มี้น เลขาธิการ สมาคมพลังงานหมุนเวียนแห่งพม่า (REAM) กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีราคาถูก และสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็ว แต่การสนับสนุนทางการเมืองเพื่อการพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน หรือแม้แต่พิจารณาศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนกลับมีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบรวมศูนย์

แผนแม่บทด้านพลังงานของพม่า ที่ร่างขึ้นกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) นั้น พบว่าโครงการผลิตพลังงานจากถ่านหินของแผนการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติภายในปี 2573 มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในสัดส่วนเกือบ 30% จากในปี 2558 ที่มีสัดส่วนน้อยกว่า 2% ขณะที่แผนการผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ (NEP) ที่มีเป้าหมายที่จะนำพลังงานไปสู่ทุกคนในพม่าภายในปี 2573 และขยายระบบสายไฟฟ้าให้ครอบคลุม เพิ่งเริ่มต้นการดำเนินการ

กรีเซนระบุว่า ระบบพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กและระบบสายไฟฟ้าขนาดเล็กถือเป็นทางเลือกที่ใช้การได้ ขณะที่ประชาชนกำลังรอการเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก และหลายพันหมู่บ้านยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลักในอนาคตอันใกล้นี้ จึงเป็นโอกาสทางการตลาดและโอกาสในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

ลูกค้าหลักของพลังงานทางเลือกนอกระบบส่งไฟฟ้าในพม่า คือ ประชาชนราว 4.5 ล้านครัวเรือนที่เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี ไปกับเทียนไข น้ำมันก๊าด แบตเตอรี่ และน้ำมันดีเซล ตามการระบุของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ที่ช่วยเหลือสนับสนุนตลาดเชิงพาณิชย์สำหรับชุดอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ในพม่า

เกษตรกรอายุ 58 ปี รายหนึ่ง ได้ยินข่าวลือว่าระบบส่งไฟฟ้าหลักอาจเข้าถึงหมู่บ้านในปีหน้า แต่กลับพบว่าค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อแต่ละครัวเรือนอยู่ที่ 400,000 จ๊าต ทำให้เกษตรกรรายนี้ไม่มั่นใจว่าจะสามารถจ่ายได้ และอาจตัดสินใจใช้ระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น