รอยเตอร์/เอเอฟพี - จีน และพม่าบรรลุข้อตกลงว่าด้วยท่อส่งน้ำมันระหว่างสองประเทศ หลังเจรจาหารือกันนานเกือบ 10 ปี โดยโครงการมีกำหนดเริ่มต้นโดยเร็วที่สุด ตามการเปิดเผยของ หลิว เจิ้นหมิน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของจีน
สองประเทศได้ลงนามข้อตกลงว่าด้วย ท่อน้ำมันดิบระหว่างท่าเรือจอก์พยู ทางตะวันตกของพม่า และเมืองคุนหมิง ของจีน ที่ปักกิ่งคาดว่าจะดำเนินการได้โดยเร็ว
เส้นทางขนส่งน้ำมันเส้นใหม่นี้สอดคล้องเหมาะสมต่อโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 ของจีน ที่เชื่อมต่อจีนกับภูมิภาคเอเชียกลาง และยุโรป และจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลาง นอกเหนือจากการส่งผ่านช่องแคบมะละกา และสิงคโปร์
คำกล่าวของหลิว ที่มีขึ้นในช่วงท้ายการเยือนจีนของประธานาธิบดีถิ่น จอ ของพม่า ถือเป็นการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของท่อส่งน้ำมันความยาว 770 กิโลเมตร ที่ปักกิ่งให้ความสำคัญในการรองรับความต้องการน้ำมันของประเทศ
“ท่อส่งน้ำมันจะเริ่มดำเนินการโดยเร็วที่สุด” หลิว เจิ้นหมิน กล่าว
ข้อตกลงระหว่างบริษัทปิโตรไชน่า ของจีน และรัฐบาลพม่า จะอนุญาตให้ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของรัฐนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศผ่านอ่าวเบงกอล และปั๊มผ่านท่อส่งไปยังโรงกลั่นขนาดการผลิต 260,00 บาร์เรลต่อวัน ที่ตั้งอยู่ในมณฑลหยุนหนาน
การประกาศเกี่ยวกับโครงการท่อส่งน้ำมันนี้ มีขึ้นหลังประธานาธิบดีถิ่น จอ เสร็จสิ้นการเยือนจีนนาน 6 วัน ที่เป็นการเยือนครั้งแรกหลังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง โดยผู้นำพม่าได้พบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายกรัฐมนตรีลี่ เค่อเฉียง รวมทั้งเดินทางเยือนเมืองต่างๆ ของจีน เช่น นครเซี่ยงไฮ้ และเมืองเฉิงตู
สำหรับประเด็นการพัฒนาเขื่อนมิตโสน ในพม่า โครงการที่จีนให้การสนับสนุน ซึ่งระงับการดำเนินการไปตั้งแต่เกิดเหตุประท้วงในปี 2554 หลิว เจิ้นหมิน กล่าวต่อผู้สื่อข่าวหลังการประชุมว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงโครงการ และมีความประสงค์ที่จะเดินหน้าโครงการไปในทิศทางที่เอื้อต่อความสัมพันธ์ทวิภาคี และให้ผลลัพธ์ที่เป็นที่พอใจต่อทั้งสองฝ่าย
“เราควรก้าวไปสู่แนวทางที่เหมาะสมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีและตระหนักถึงประโยชน์สำหรับสองฝ่าย” หลิว เจิ้นหมิน กล่าว
จีนได้เปลี่ยนจุดยืนในข้อพิพาทเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนมิตโสน มูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าวก่อนหน้านี้ ที่ส่งสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะละทิ้งโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนกับโอกาสทางยุทธศาสตร์ และเศรษฐกิจอื่นๆ ในพม่า
สองประเทศยังได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ 9 ฉบับ เกี่ยวกับด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งสาธารณสุข กีฬา และการคมนาคมขนส่ง และเห็นพ้องกันที่จะทำงานร่วมกันเพื่อจัดการความมั่นคงให้ดียิ่งขึ้นในพื้นที่ภาคเหนือของพม่า ที่จีนระบุว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาสำหรับทั้งสองประเทศ
“สันติภาพ และเสถียรภาพในพื้นที่ทางเหนือของพม่าไม่เพียงเป็นปัญหาท้าทายสำหรับรัฐบาลพม่าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำหรับรัฐบาลจีนด้วย” หลิว เจิ้นหมิน ระบุ
การสู้รบระหว่างกองทัพพม่า และกลุ่มก่อความไม่สงบชาติพันธุ์ที่ยังดำเนินต่อเนื่องมานานหลายเดือนในเขตโกกัง รัฐชาน ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนอพยพหลบหนีเข้าไปในฝั่งจีนเพื่อหาที่ลี้ภัย.
.
.
.