xs
xsm
sm
md
lg

ยูนิเซฟร้องพม่าปล่อยตัวเด็กโรฮิงญาที่ถูกจับในรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเข้าเยี่ยมชาวมุสลิมโรฮิงญาและนักเคลื่อนไหวในเรือนจำ ในเมืองสิตตเว รัฐยะไข่ เมื่อเดือนม.ค. โดยในปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบของทหาร ยูนิเซฟระบุว่ามีเด็กรวมอยู่ในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมตัวจากปฏิบัติการดังกล่าวด้วย. -- Agence France-Presse/Wai Moe.</font></b>

เอเอฟพี - องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าปล่อยตัวเด็กชาวโรฮิงญาที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการปราบปรามทางทหารในรัฐยะไข่

ประชาชนมากกว่า 600 คน ถูกจับกุมตัวในการปราบปรามทางทหารต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ปฏิบัติการที่ดำเนินขึ้นเพื่อตอบโต้การโจมตีรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบในเดือน ต.ค.

ชาวโรฮิงญามากกว่า 70,000 คน ได้หลบหนีความรุนแรงไปบังกลาเทศ ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติได้รับรายงานว่า มีการทุบตี ทรมาน และงดอาหารภายในคุก ซึ่งในบรรดาผู้ที่ถูกควบคุมตัวมีเด็กรวมอยู่ด้วย

จัสติน ฟอร์ซิธ รองผู้อำนวยการบริหารยูนิเซฟกล่าวว่า เขาได้ให้รายละเอียดแก่นางอองซานซูจีเกี่ยวกับเด็กประมาณ 12 คน ที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำบูติด่อง

“ยังมีเด็กบางส่วนที่ถูกควบคุมในเรือนจำ เด็กเหล่านั้นเป็นกรณีที่เราให้ความสนใจ ไม่ว่าเด็กคนใดก็ตามที่ถูกควบคุมตัวถือเป็นประเด็นปัญหาสำหรับเรา” จัสติน ฟอร์ซิธ กล่าว และระบุว่า นางอองซานซูจี และผู้บัญชาการกองทัพพม่าต่างรับทราบว่ามีเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่ไม่ได้ยืนยันว่าจะดำเนินการปล่อยตัว

ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่าปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เห็นชอบที่จะส่งคณะผู้แทนไปยังพม่าเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาว่ากองกำลังทหาร และตำรวจได้ก่อเหตุข่มขืน สังหาร และทรมานชาวโรฮิงญาระหว่างปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่ยาวนานหลายเดือน

พม่าได้ปฏิเสธรายงานต่างๆ ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติรวบรวมจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ ที่ระบุว่า อาชญากรรมที่เกิดขึ้นอาจเทียบได้กับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“ฉันคิดว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเป็นคำที่รุนแรงเกินไปที่จะอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนี้” ซูจี กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อบีบีซี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กล่าวว่า มีประชาชนประมาณ 450 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำบูติด่อง เมื่อตอนที่เธอเดินทางไปเยือนเมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถติดต่อทนาย หรือครอบครัวของตัวเอง

พม่าถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญา ที่ชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า Arakan Rohingya Salvation Army ได้อ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีเดือน ต.ค. โดยกลุ่มระบุว่าเจตนาที่จะปกป้องสิทธิของชนกลุ่มน้อยหลังตกอยู่ในสภาพเลวร้ายหลายปี

“ความจริงก็คือ หากคุณไม่สามารถจัดการปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนเหล่านี้ เมื่อนั้นมันจะย้อนกลับมาหลอกหลอนพวกเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น” ฟอร์ซิธ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น