รอยเตอร์ - จีนเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อโครงการก่อสร้างเขื่อนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นปัญหาขัดแย้งยาวนานกับพม่า ตามการเปิดเผยของแหล่งข่าว นับเป็นการส่งสัญญาณถึงความเต็มใจที่จะละทิ้งโครงการดังกล่าวเพื่อแลกกับโอกาสทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจอื่นๆ ในพม่า
ประธานาธิบดีถิ่น จอ ของพม่าคาดว่าจะหารือข้อตกลงเกี่ยวกับเขื่อนมิตโสนระหว่างการเดินทางเยือนจีนที่เริ่มต้นในวันนี้ (6) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลพม่าและบุคคลที่คุ้นเคยกับโครงการเขื่อน
ก่อนหน้านี้ จีนมุ่งมั่นผลักดันโครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาด 6,000 เมกะวัตต์ให้เดินหน้า แม้ถูกคัดค้านอย่างกว้างขวางจนส่งผลให้ทางการพม่าระงับโครงการในปี 2554 แต่เวลานี้ จีนกำลังหารือทางเลือกอื่นกับพม่า รวมทั้งการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าขนาดเล็กและการเข้าถึงท่าเรือสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เพื่อชดเชยกับการระงับโครงการเขื่อนดังกล่าว
ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท Upstream Ayeyawady Confluence Basin Hydropower ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างจีนและพม่าผู้พัฒนาโครงการเขื่อน มีความวิตกอย่างมากว่าโครงการจะถูกยกเลิกลง โดยในคำแถลงฉบับหนึ่ง บริษัทระบุว่ากำลังรอรัฐบาลพม่าทบทวนพิจารณาผลกระทบของโครงการต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่บริษัทมั่นใจว่าจะมีทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
ส่วนที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของพม่ากล่าวว่า การทบทวนโครงการเขื่อนมิตโสนภายใต้การกำกับดูแลของประธานาธิบดีถิ่นจอกำลังอยู่ในขั้นตอนสุดท้าย
บุคคลที่คุ้นเคยกับข้อตกลงฉบับดั้งเดิมเผยว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา บริษัท State Power Investment Corp Yunnan International Power Investment (SPICYN) ของจีนที่เป็นผู้ควบคุมเขื่อน ไม่กระตือรือร้นติดตามโครงการ ซึ่งเป็นท่าทีที่ตรงข้ามกับก่อนหน้านี้
ด้านโฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนระบุว่า จีนยังคงติดต่อสื่อสารกับพม่าเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการร่วมมือกันในโครงการ
.
.
แต่เดิมนั้น เขื่อนมิตโสนคาดหมายว่าจะส่งพลังงานร้อยละ 90 ของที่ผลิตได้ไปยังมณฑลหยุนหนาน ซึ่งสร้างความไม่ใจให้กับชาวพม่าจำนวนมากที่ยังขาดแคลนไฟฟ้า
แต่ในช่วงหลายเดือนมานี้ จีนให้ความสนใจโครงการนี้ลดลง ด้วยเพราะมณฑลหยุนหนานในเวลานี้มีพลังงานเกินความต้องการ เนื่องจากเมืองหันไปเน้นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานน้อยท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แหล่งข่าวระบุ
ปักกิ่งถือเป็นหุ้นส่วนที่มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับอองซานซูจี ที่การยุติสงครามกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเป้าหมายสูงสุด และพม่าต้องการการสนับสนุนจากจีนเพื่อรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนระหว่างกันท่ามกลางการสู้รบที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกับกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์
แหล่งข่าวใกล้ชิดกับข้อตกลงระบุว่า พม่ามีแนวโน้มที่จะต้องรับผิดชอบจีนเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายหลายร้อยล้านดอลลาร์ที่ใช้ไปกับโครงการ
เจ้าหน้าที่ที่ไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่งระบุว่า การชดเชยไม่จำเป็นต้องเป็นเงินสด และจีนมีความสนใจในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ รวมทั้งเขื่อนขนาดเล็ก ขณะเดียวกันแหล่งข่าวอีกสองรายย้ำว่า จีนยังคงผลักดันการเข้าถึงเป็นพิเศษที่ท่าเรือน้ำลึกจอก์พยูบนอ่าวเบงกอล ซึ่งจอก์พยูนั้นเป็นจุดทางเข้าสำหรับท่อน้ำมันและก๊าซของจีน ซึ่งทั้งสองประเทศใกล้ที่จะเริ่มส่งน้ำมันผ่านท่อนี้ โครงการท่อน้ำมันและก๊าซแห่งนี้จะเป็นเส้นทางทางเลือกของจีนในการรับน้ำมันจากตะวันออกกลาง.