รอยเตอร์ - พม่ากำลังเร่งฝึกอบรมพยาบาลผดุงครรภ์หลายร้อยคน ในความพยายามที่จะลดจำนวนผู้หญิงที่เสียชีวิตในการคลอดลูก ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปสังคมของประเทศที่เพิ่งหลุดพ้นจากการปกครองของทหารนานนับ 50 ปี
ข้อมูลทางสถิติชี้ว่า การคลอดบุตร และภาวะแทรกซ้อนของมารดาในช่วงตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในหมู่ผู้หญิงพม่า ซึ่งส่วนใหญ่เข้าถึงการดูแลฉุกเฉินล่าช้า
ตามการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุด พบว่า มีผู้หญิงเสียชีวิต 282 คนต่อการให้กำเนิดบุตร 100,000 คน หรือเทียบได้กับการเสียชีวิต 8 คนต่อวัน หรือเป็นสองเท่าของอัตราเฉลี่ยในระดับภูมิภาค และมากกว่าอัตราการเสียชีวิตในไทยที่ 20 คนต่อ 100,000 คน หรือ 6 คนต่อ 100,000 คน ในสิงคโปร์
เน นิน ละวิน อายุ 19 ปี เป็นหนึ่งในพยาบาลผดุงครรภ์ 200 คน ที่กำลังศึกษาที่โรงเรียนผดุงครรภ์กลางในนครย่างกุ้ง เผยว่า พ่อแม่ของเธอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทยังคงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการผดุงครรภ์ และมักพึ่งพาหมอตำแยเป็นหลัก
“หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน พวกเขาจะไม่สามารถรักษาชีวิตไว้ได้ ฉันรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นพยาบาลผดุงครรภ์เพื่อรักษาชีวิตคุณแม่เหล่านั้น” นิน ละวิน กล่าว
เมื่อสิ้นสุดการศึกษาที่ใช้เวลา 2 ปี เน นิน ละวิน และเพื่อนพยาบาลผดุงครรภ์ร่วมชั้นจะถูกส่งไปประจำที่คลินิกห่างไกลที่โครงสร้างพื้นฐานยังย่ำแย่ และขาดสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์
“บทบาทของพยาบาลผดุงครรภ์มีความสำคัญอย่างมากเพราะพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศเป็นพื้นที่ชนบท พวกเขาไม่เพียงทำงานด้านดูแลสุขภาพ แต่ยังทำงานเอกสาร และรวบรวมข้อมูลสำหรับประเทศ” หัวหน้าผู้ฝึกสอนที่โรงเรียนผดุงครรภ์กลาง กล่าว
การดูแลสุขภาพของพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล การบริการยังคงย่ำแย่ ด้วยโรงพยาบาลยังขาดอุปกรณ์พื้นฐาน เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารโยกงบประมาณไปจากการบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปไปยังกองทัพ
รัฐบาลของนางอองซานซูจี ได้เริ่มต้นปฏิรูปสังคมหลายอย่าง เช่น แผนการศึกษาและการสาธารณสุขแห่งชาติ และการเริ่มต้นระบบขนส่งรถประจำทางในนครย่างกุ้ง
โครงการฝึกอบรมพยาบาลผดุงครรภ์ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) ที่ระบุว่า พม่าต้องจัดการต่อการตายของมารดาเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ
“การตายของมารดาจำเป็นต้องลดลง หากพม่าต้องการยกระดับจากประเทศด้อยพัฒนาไปสู่ประเทศรายได้ปานกลาง” หล่า หล่า เอ ผู้ช่วยผู้แทนกองทุน กล่าว.
.
.
.