เอพี - กลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่าในนามของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ออกคำแถลงฉบับหนึ่งยืนยันสิทธิในการป้องกันตนเอง และปฏิเสธความเกี่ยวข้องต่อกลุ่มก่อการร้าย
คำแถลงที่ลงวันที่ 29 มี.ค. แต่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (28) ถือเป็นการประกาศต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในชื่อของ Arakan Rohingya Salvation Army ซึ่งก่อนหน้านี้ กลุ่มเคยเรียกตัวเองว่า ขบวนการเคลื่อนไหวความศรัทธา หรือฮาราคาห์ อัล-ยาคิน
ถ้อยแถลงฉบับนี้ระบุว่า กลุ่มตั้งขึ้นเพื่อป้องกัน และปกป้องคุ้มครองชุมชนโรฮิงญาในรัฐอาระกัน (ยะไข่) ด้วยกำลังความสามารถอย่างดีที่สุดตามสิทธิอันชอบธรรมภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในการปกป้องกันตนเองตามหลักการป้องกันตนเอง
รัฐยะไข่ เป็นรัฐทางตะวันตกของพม่า ที่มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ และชาวโรฮิงญาเหล่านี้มักเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ และตกเป็นเป้าของความรุนแรงระหว่างชุมชนในปี 2555 ที่ทำให้ประชาชนหลายร้อยคนเสียชีวิต และอีกนับแสนคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญา ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนไปอาศัยในค่ายผู้พลัดถิ่น ด้วยพวกเขาถูกชาวพม่าส่วนใหญ่มองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
คำแถลงยังระบุข้อเรียกร้อง 20 ข้อ ต่อรัฐบาลในการรับรองสิทธิของชาวโรฮิงญา
ในเดือน ต.ค.2559 กลุ่มชายติดอาวุธได้เข้าโจมตีด่านชายแดน และสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย นำมาซึ่งปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบของกองทัพในพื้นที่ชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ การปราบปรามที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับข้อกล่าวหาว่า กองกำลังทหารก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการข่มขืน และสังหารพลเรือน วางเพลิงเผาบ้านมากกว่า 1,000 หลัง ที่ทำให้รัฐบาลถูกต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์ และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้เรีียกร้องให้มีการดำเนินการสืบสวนระหว่างประเทศอย่างเป็นอิสระเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
และจากเหตุสังหารตำรวจชายแดนดังกล่าว รัฐบาลพม่ากล่าวหาว่า กลุ่มฮาราคาห์ อัล-ยาคิน เป็นผู้ก่อการร้าย
“เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อกลุ่มก่อการร้ายใดๆ เราไม่กระทำการก่อการร้ายต่อพลเรือนไม่ว่าศาสนาและชาติพันธุ์ใด ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม” คำแถลงระบุ และกลุ่มยังยืนยันความปลอดภัย และสวัสดิภาพของทุกชุมชนชาติพันธุ์ สถานที่สักการบูชา และทรัพย์สินในรัฐยะไข่
รายงานของกลุ่มวิกฤตการณ์นานาชาติ ที่ออกเผยแพร่เมื่อเดือน ธ.ค. ระบุว่า กลุ่มฮาราคาห์ อัล-ยาคิน อยู่ภายใต้การนำของคณะกรรมการผู้อพยพชาวโรฮิงญาในซาอุดีอาระเบีย และมีผู้บัญชาการภาคพื้นเป็นชาวโรฮิงญาที่ได้รับการฝึกฝนในต่างประเทศ และมีประสบการณ์การรบแบบกองโจร แต่ไม่ปรากฏถึงแรงจูงใจในการทำญิฮาด.