MGRออนไลน์ -- เรือขนส่งความเร็วสูงฟอลล์ริเวอร์ (USSN Fall River, T-EPF-4) กองทัพเรือสหรัฐ ได้เข้าจอดที่ท่าเรือนครย่างกุ้ง เพื่อเยี่ยมเยือนพม่าอย่างเป็นทางการ ในสัปดาห์นี้ ซึ่งได้กลายเป็นเรือจากกองทัพเรือสหรัฐลำแรก ที่ไปเยือนประเทศนี้่ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
ตามรายงานของสื่อกลาโหมในสหรัฐ เรือฟอลล์ริเวอร์ ไปจากศรีลังกา ถึงนครย่างกุ้ง วันอังคาร 21 มี.ค. และ จะอยู่เยือนจนถึงสุดสัปดาห์นี้ พร้อมลูกเรือและเจ้าหน้าที่จากหลายประเทศ รวมจำนวนประมาณ 200 คน ก่อนแล่นต่อไปยังมาเลเซีย เพื่อเริ่มการฝึกความพร้อม การช่วยเหลือกู้ภัย และ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ต่อไป
ระหว่างอยู่ในนครใหญ่ที่สุดของพม่านั้น ลูกเรือกับบุคคลากรจาก สหรัฐ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลี และ สหราชอาณาจักร จะได้เยี่ยมเยือน รู้จักสถานที่สำคัญต่างๆ ลูกเรือทำกิจกรรมหลายอย่าง ร่วมกับทหารกองทัพเรือพม่า และ วงดนตรีกองทัพเรือที่ 7 จะเปิดการแสดงหลายรอบ ที่สถานทูตสหรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพม่า ได้รับการพัฒนาหลายด้าน นับตั้งแต่ประเทศนี้เริ่มหันเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีการเลือกตั้งอย่างเสรี เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2558 แต่ก่อนหน้านั้นคณะปกครองทหารพม่า ถือสหรัฐเป็นศัตรูอันดับ 1
จุดต่ำสุดในความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่าย จะเห็นได้จากกรณีไซโคลนนาร์กิส พัดถล่มเขตที่ราบปากแม่น้ำอิรวดีในเดือน พ.ค.2551 ซึ่งรัฐบาลทหารพม่า อนุญาตให้สหรัฐส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ถึงประชาชนผู้ประสบภัยได้อย่างจำกัด โดยทางอากาศเท่านั้น และ ไม่อนุญาตให้เรือกองทัพเรือสหรัฐ ที่บรรทุกสิ่งของความช่วยเหลือเต็มอัตรา แล่นเข้าสู่น่านน้ำ
แต่มิใช่สหรัฐเพียงประเทศเดียว ที่เผชิญการกีดกันจากรัฐบาลทหารพม่า ที่มีความหวาดระแวงต่างชาติอย่งรุนแรง ความช่วยเหลือจากต่างประเทศอีกหลายประเทศ แม้กระทั่งจากองค์การสหประชาชาติ ล้วนถูกจำกัด และ เป็นไปด้วยความล่าช้า
ตามรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศ ช่วงปีนั้นฝ่ายสหรัฐได้พิจารณา "ทางเลือก" หลายๆ ทางเพื่อส่งความช่วยเหลือถึงประชาชนผู้ประสบเคราะห์โดยเร็ว รวมทั้งความเป็นไปได้ ที่จะส่งเครื่องบินบุกทะลวงน่านฟ้าพม่า เพื่อทิ้งร่มโดยตรง แต่แล้วก็ไม่มีปฏิบัติการดังกล่าว
หลังจากร้องขอไปยังทางการพม่า เป็นเวลาหลายสัปดาห์ และ ไม่ได้รับอนุญาต เรือของกองทัพเรือสหรัฐได้แล่นจากไป โดยไม่ได้ส่งความช่วยเหลือใดๆ ให้แก่ประชาชนผู้ประสบเคราะห์
มีผู้เสียชีวิตราว 300,000 คนจากภัยธรรมชาติครั้งนั้น เนื่องจากความรุนแรงของภัยพิบัติ ซึ่งในหลายท้องถิ่น คลื่นจากทะเลอันดามัน ซัดเข้ากลืนเมืองทั้งเมือง หลังพายุผ่านไปหลายวัน ประชาชนถูกทิ้งให้ขาดอาหาร ขาดน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาด เกิดโรคระบาด และ ขาดยารักษาโรค การคมนาคมขนส่งทางบก ไม่สามารถเข้าถึงท้องถิ่นที่ประสบภัยร้ายแรง
.
2
3
4
แต่หลายปีมานี้ความสัมพันธ์ ความร่วมมือสองฝ่าย ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นลำดับ ตามรายงานของสื่อในพม่า ระหว่างการเยือนพม่าโดยนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐในปี 2557 กับการเยือนของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในปีถัดมา เรือจู่โจมยกพลขึ้นบก กองทัพเรือสหรัฐ พร้อมนาวิกโยธินราว 2,000 ได้เข้าทอดสมอในน่านน้ำพม่า เพื่อทำหน้าที่อารักษา
ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทหารเรือพม่าเริ่มเข้าร่วมมีปฏิสัมพันธ์กับหลายประเทศ เข้าร่วมการประชุมสัมมนาด้านกลาโหม กับสหรัฐและชาติพันธมิตรในย่านนี้ รวมทั้งเป็นผู้สังเกตุการณ์ในการฝึกทางทหาร
พลเรือตรีดอน เกเบรียลสัน (Don Gabrielson) ผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจ 73 ได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่ง ที่ออกในสัปดาห์นี้ ขอบคุณการต้อนรับอันอบอุ่นจากรัฐบาล กองทัพเรือและประชาชนชาวพม่า ในการเยือนครั้งประวัติศาสตร์ ของเรือฟอลล์ริเวอร์ และ ฝ่ายสหรัฐมุ่งหวังที่จะพัฒนาความสัมพันธ์อันยั่งยืนและยาวนาน กับประชาชนพม่าสืบไป
เรือฟอลล์ริเวอร์ เป็นลำที่ 4 ในบรรดาเรือขนส่งความเร็วสูง หรือ Expeditionary Fast Transport (EPF) ชั้นสเปียร์เฮด (Spearhead-class) ขนาด 1,515 ตัน กองทัพเรือสหรัฐ มีแผนการจัดหาราว 50 ลำ ตลอด 30 ปีข้างหน้า ปัจจุบันกำลังต่ออีก 2 ลำ โดยแรกเริ่มใช้ชื่อว่า โครงการจัดหาเรือขนส่งความเร็วสูงเพื่อใช้ร่วมกัน หรือ Join High Speed Vessel (JHSV) แต่เปลี่ยนมาเป็น EPF ในปลายปี 2558
เรือแล่นด้วยความเร็ว ระหว่าง 35-45 น็อต หรือ 65-83 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ระยะปฏิบัติการ 2,000 กม. บรรทุกหนักได้ 600 ตัน ออกแบบสำหรับขนส่งกำลังพลของเหล่านาวิกโยธิน และ กองทัพบก ในระดับกองร้อย พร้อมยุทธสัมภาระต่างๆ บนดาดฟ้ามีโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ MH-60 "ซีฮอว์ค" 1 ลำ และ ฮ.ขนาดใหญ่ระดับ CH-53 "ซูเปอร์สตาลเลียน" หรือ CH-53K "คิงสตาลเลียน" ลงจอดได้
เรือชั้นสเปียร์เฮดติดปืนกลหนัก M2 ขนาด .50 หรือ 12.7x99 มม. จำนวน 4 กระบอกใน 4 จุด กองทัพสหรัฐ ได้เลือกเรือชั้นนี้ ติดตั้งและทดลอง "เรลกัน" (Railgun) ซึ่งอาจจะหมายถึงว่า ในอนาคตเรือขนส่งชั้นสเปียร์เฮดทุกลำ จะติดอาวุธเทคโนโลยีใหม่ ล้ำยุคสมัยระบบเดียวกับเรลกัน ที่จะติดตั้งบนเรือชั้นซูมวอลต์ เรือพิฆาตยุคใหม่ของกองทัพเรือ
เมื่อปี 2558 กองทัพเรือที่ 7 ของสหรัฐ ได้ส่งเรือมิลลิน็อกเก็ต (USNS Millinocket, T-EPF-3) ไปเยือนเวียดนาม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เรือขนส่งท้องกลวง ไปเยือนประเทศคอมมิวนิสต์.