MGRออนไลน์ -- หลังทำพิธีเปิดการก่อสร้างมาเพียง 2 เดือนเศษ การลงมือในทางปฏิบัติได้เริ่มขึ้นแล้ว สำนักข่าวของทางการได้เผยแพร่ภาพ การเจาะอุโมงค์เป็นแห่งแรก รวมทั้งข่าวคราวความคืบหน้าที่ว่า นักวิชาการกับคนงานลาวและจีน ฝ่ายละประมาณ 300 คนเศษ กำลังทำงานขมีขมัน ในการก่อสร้างทางรถไฟช่วงแรก จากด่านชายแดนบ่อเต็น ไปยังแขวงอุดมไซ
นั่นคือช่วงที่จะต้องเจาะอุโมงค์ เป็นความยาวรวมกันราว 10 กิโลเมตร และ การเจาะอุโมงค์แรกได้เริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ ในเดือนนี้ สำนักข่าวสารปะเทดลาว รายงานอ้างนายจันทะจอน แก้วละคอน หัวหน้าคณะกรรมการประสานงาน โครงการรทางรถไฟลาว-จีนประจำแขวงหลวงน้ำทา วันพุธ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา
โครงการระยะที่ 1 จากชายแดนถึงเมืองนาหม้อ แขวงอุดมไซ มีระยะทาง 50 กม. ผ่านพื้นที่แขวงหลวงน้ำทา 16 กม.เศษ ช่วงนี้มีสะพานทั้งหมด 7 แห่ง ยาวรวมกัน 4 กม. อุโมงค์ 3 แห่ง 10 กม. ในนั้นอุโมงค์มิตรภาพลาวจีน ที่บริเวณชายแดนยาว 2 กม. อุโมงค์บ่อแตนยาว 6 กม. และ อีกแห่งที่เรียกว่าอุโมงค์ตีนตก ยาว 1 กม. ขปล.รายงาน
การเจาะอุโมงค์รถไฟ ดำเนินไปพร้อมกับงานด้านอื่นๆ รวมทั้งการก่อสร้างเรือนพักสำหรับคนงาน-พนักงาน ซึ่งแล้วเสร็จราว 60% งานเก็บกู้วัตถุระะเบิดตกค้างแต่ครั้งสงคราม แล้วเสร็จไป 12 กม. และ ยังมีงานไกล่เกลี่ย เพื่อจ่ายค่าชดเชยและโยกย้าย สิ่งกีดขวาง รวมทั้งบ้านเรือราษฎร์ ที่ได้รับผลกระทบ ออกจากแนวเส้นทางรถไฟด้วย
ตามรายงานของสำนักข่าวทางการ ผู้ได้รับผลกระทบได้เสนอ 4 ปัญหาสำคัญ ให้คณะกรรมฯ พิจารณา ซึ่งได้แก่ ขอค่าชดเชยอย่างเหมาะสม เพื่อย้ายไปสร้างที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ ที่ดีกว่าเดิมหรือเท่าเดิม ให้จัดสรรที่อาศัยแห่งใหม่ให้เรียบร้อย ก่อนทำการก่อสร้าง ให้ภาครัฐกำหนดราคาการจ่ายเชยโดยเร็ว เพื่อให้งานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งขอให้จ่ายค่าชดเชยก่อนจะมีการโยกย้าย
นอกจากขอค่าชดเชยเป็นเงินสดแล้ว ผู้ได้รับลผลกระทบ ยังเสนอรูปแบบความช่วยเหลืออื่นๆ ให้พิจารณา เช่น ขอให้จัดสรรที่อยู่อาศัย และ ที่ทำกิน ปลูกสร้างบ้านเรือนให้ เช่นเดียวกับผู้ได้รับผลกระทบจาก โครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าน้ำทา 1 ที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้
นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีลาว รัฐมนตรีอีกหลายนาย รวมทั้งเอกอัครรัฐทูตจีนประจำลาว ได้ทำพิธีเปิดการก่อสร้างอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2559 ที่เมืองหลวงพระบาง สำหรับทางรถไฟสายยาว 417 กม.มูลค่าราว 5,800 ล้านดอลลาร์ โดยจะใช้เวลาดำเนินการประมาณ 60 เดือน
.
2
นายบุนจัน สินทะวง รมว.การกระทรวงโยธิการและก่อสร้าง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะชี้นำโครงการก่อสร้าง เปิดเผยว่า ทางรถไฟที่ทอดยาวจากด่านชายแดนไปยังนครเวียงจันทน์ จะเป็นรถไฟมาตรฐานชั้นหนึ่งประเภทรางเดี่ยว กำหนดความเร็วสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร ในเขตภูเขาที่ 160 กม/ชม และ 200 กม/ชม ในเขตพื้นราบ และ ออกแบบความเร็วสำหรับการขนส่งสินค้าไว้ 120 กม/ชม
ตลอดเส้นทางประกอบด้วยสะพาน167 แห่ง รวมยาวกว่า 61 กม. คิดเป็น 14.9% ของระยะทาง จะมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำ 649 แห่ง ยาว 20 กม. อุโมงค์ 75 แห่ง 197 กม. หรือ 47.7% ในนี้อุโมงค์ยาวที่สุด ยาวประมาณ 12 กม. อยู่ในเขตเมือง (อำเภอ) กาสี แขวงเวียงจันทน์
ตลอดเส้นทางประกอบด้วยทั้งหมด 32 สถานี ในนั้น 21 สถานี สำหรับรถไฟสับรางกัน 11 สถานีโดยสาร กับ สถานีสินค้าอีก 1 แห่ง
รัฐบาลลาว-จีน ได้ร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนทางรถไฟลาว-จีน ขึ้นมาดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการในอนาคต มีการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง หาบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และ บริษัทที่ปรึกษา มีการเซ็นสัญญากับบริษัทเหมา 6 สัญญา บริษัทที่ปรึกษาอีก 3 สัญญา และ บริษัทที่ปรึกษาบุคคลที่สามอีก 3 สัญญา
การเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟทั้ง 6 ช่วงตอน ดำเนินมาครบถ้วนสมบูรณ์ ยกเว้นการไกล่เกลี่ย เพื่อโยกย้ายผู้ได้รับผลกระทบ กับสิ่งกีดขวาง ออกจากเส้นทางเท่านั้น.