เอเอฟพี - ผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของพม่าเตือนว่า การสู้รบในเขตพื้นที่ชายแดนของประเทศมาถึงจุดสำคัญที่กำลังคุกคามการสร้างสันติภาพของรัฐบาล
เปา โหย่วเฉียง ผู้นำสูงสุดของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) กล่าวต่อแกนนำติดอาวุธชาติพันธุ์หลายสิบคน ว่า พวกเขาต้องสร้างหนทางใหม่สู่สันติภาพ เนื่องจากความพยายามของรัฐบาลที่จะขยายการลงนามข้อตกลงหยุดยิงที่ทำขึ้นกับบางกลุ่มในปี 2558 ได้สะดุดหยุดชะงัก
อองซานซูจี กำลังผลักดันการลงนามข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) นับตั้งแต่เข้าบริหารประเทศในปีก่อน เพื่อยุติความขัดแย้งที่ดำเนินมาอย่างยาวนานหลายสิบปีทั่วพื้นที่ชายแดนของประเทศ
แต่การปะทะระหว่างกองทัพ และนักรบของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ตามแนวพรมแดนจีนได้ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ประชาชนต้องอพยพย้ายถิ่นกว่า 20,000 คน และยังคุกคามการเจรจาสันติภาพรอบที่ 2 ที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนหน้า
“การต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นทุกวันนี้รุนแรงกว่าครั้งไหนๆ” เปา โหย่วเฉียง กล่าวต่อแกนนำชาติพันธุ์ที่รวมตัวกันในเมืองปางซาง เมืองเอกของกองกำลังว้า เมื่อวันพุธ (22)
“สงครามในพื้นที่ทางเหนือของรัฐกะฉิ่น และรัฐชาน ตามแนวพรมแดนพม่า-จีน กำลังแย่ลงทุกวัน ส่วนข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่กำลังเจรจาหารือระหว่างองค์กรชาติพันธุ์บางกลุ่ม และรัฐบาลพม่าก็ยังไม่พบทางออก ความขัดแย้งมากมายเกิดขึ้นไปพร้อมกับเส้นทางสู่สันติภาพนั่นหมายความว่า แสงสว่างคงไม่ปรากฏให้เห็น” ผู้นำกองกำลังว้า กล่าว
กองทัพสหรัฐว้า หรือกองกำลังว้า เป็นหนึ่งในกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ของประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด ด้วยมีกองกำลังติดอาวุธมากถึง 25,000 นาย และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีน
คณะผู้แทนจากกลุ่มว้า ตบเท้าออกจากที่ประชุมอย่างโกรธเกรี้ยวในการเจรจาสันติภาพนัดแรกของอองซานซูจี เมื่อเดือน ส.ค.2559 เนื่องจากความขัดแย้งเกี่ยวกับการรับรอง
กลุ่มยังถูกกล่าวหาผลิต และลักลอบค้ายาบ้าและเฮโรอีนในปริมาณมหาศาลจากดินแดนขนาดเล็กของตนเองบนชายแดนจีน และซื้ออาวุธจากรายได้เหล่านั้น
ผู้แทนจากกลุ่มกองกำลังติดอาุธชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม ประมาณ 40 คน รวมตัวกันในเมืองปางซางสัปดาห์นี้ ก่อนที่การเจรจาสันติภาพรอบถัดไปของซูจี ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดเดิมหลังกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งขู่คว่ำบาตร
ในบรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมซึ่งนำโดยกองทัพสหรัฐว้า ยังประกอบด้วยสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ ที่เป็นการรวมกลุ่มกันของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 4 กลุ่ม ที่มีข้อขัดแย้งกับกองทัพพม่าตั้งแต่เดือนพ.ย.
ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติได้กล่าวเตือนเมื่อเดือนก่อนว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในรัฐกะฉิ่น โดยเฉพาะการต่อสู้เมื่อไม่นานนี้นับว่าเลวร้ายที่สุดกว่าครั้งใดๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา.