เอเอฟพี - กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่ากำลังสืบสวนเหตุโรฮิงญา 8 คน เสียชีวิตขณะอยู่ในความควบคุม จากหลายร้อยคนที่ถูกจับกุมตัวระหว่างการปราบปรามทางทหารในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ตามการระบุของรัฐบาลพม่า
คาดว่ามีชาวโรฮิงญาหลายร้อยคนถูกฆ่าระหว่างการปราบปรามของทหารที่เริ่มขึ้นเมื่อ 4 เดือนก่อน หลังกองกำลังติดอาวุธเข้าโจมตีด่านตำรวจชายแดน ปฏิบัติการตอบโต้ของทางการทำให้ชาวโรฮิงญาราว 73,000 คน หลบหนีข้ามแดนเข้าไปในเขตบังกลาเทศ ปฏิบัติการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบที่สหประชาชาติกล่าวว่าถูกนำมาใช้เพื่อปกปิดการสังหารและข่มขืนพลเรือนจากชนกลุ่มน้อยมุสลิม
ผู้หลบหนีจำนวนหนึ่งได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สืบสวนของสหประชาชาติในบังกลาเทศ ระบุว่าพวกเขาถูกจับตัว และโดนทุบตีกระทำทารุณขณะอยู่ในการควบคุม
รัฐบาลพม่าได้ให้คำมั่นว่าจะสืบสวนคำกล่าวอ้างต่างๆ หลังปฏิเสธมาโดยตลอดต่อข้อกล่าวหาเดียวกันที่รวบรวมขึ้นโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนและนักข่าว
พม่าระบุในเดือนนี้ว่ามีผู้ต้องสงสัยอย่างน้อย 585 คน ถูกจับกุมตัวตั้งแต่การปราบปรามเริ่มขึ้น รวมทั้ง 8 คน ที่เสียชีวิตจากความเจ็บป่วยขณะอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่
ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีกล่าวเมื่อวันพุธ (22) ว่า คณะทำงาน 2 ชุด ได้เดินทางมาถึงเมืองหม่องดอ เพื่อสืบสวนคำร้องที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
"ตำรวจได้ตั้งทีมสืบสวนนำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส ขณะที่ฝ่ายทหารเองก็ได้ตั้งทีมสืบสวนขึ้นเช่นกัน นำโดยผู้ตรวจสอบของกองทัพ ทีมสืบสวนกำลังตรวจสอบข้อร้องเรียนต่างๆ ไม่ว่าคำร้องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม" ซอ เต กล่าว
การปฏิบัติของพม่าต่อชาวโรฮิงญาเป็นประเด็นที่ต่างชาติวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างยาวนาน และการปราบปรามที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ บ่อนทำลายความชื่นชมยินดีที่มีต่อรัฐบาลพลเรือนชุดแรกของประเทศที่มาจากการเลือกตั้งปี 2558 ภายใต้การนำของนางอองซานซูจี
มาเลเซียกล่าวหาว่าซูจีกำกับดูแลการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา ขณะที่รายงานของสหประชาชาติระบุว่าความรุนแรงในรัฐยะไข่เป็นความรุนแรงที่มีแนวโน้มอย่างมากที่เทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และจนถึงขณะนี้มีการลงโทษกองกำลังรักษาความมั่นคงที่ก่อเหตุละเมิดสิทธิเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แหล่งข่าวความมั่นคงเผยกับเอเอฟพีในเดือนนี้ว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย ถูกตัดสินโทษควบคุมตัวเป็นเวลา 2 เดือน จากคลิปวิดีโอที่เผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 กำลังปฏิบัติไม่ดีกับพลเรือนชาวโรฮิงญา และยังมีตำรวจอาวุโส 3 นาย ที่รวมทั้งตำรวจยศพันตรี ถูกปรับลดตำแหน่งและหน้าที่ฐานล้มเหลวที่จะบังคับใช้ระเบียบวินัย.