xs
xsm
sm
md
lg

พม่าเร่งสืบสวนพบ 4 ศพถูกฝังในพื้นที่ปราบปรามรัฐยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ภาพแฟ้มเอเอฟพีเดือนธ.ค. 2559 รองประธานาธิบดีมี้น ส่วย (ที่ 2 จากขวา) หัวหน้าคณะกรรมการสืบสวนรัฐยะไข่ ฟังบรรยายสรุปจากเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างลงพื้นที่ชุมชนชาวมุสลิมในเมืองหม่องดอ ในรัฐยะไข่ ใกล้พรมแดนบังกลาเทศ คณะกรรมการชุดนี้กำลังสืบสวนข้อกล่าวหาที่ว่าทหารก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และทรมานชาวมุสลิมโรฮิงญา และล่าสุดตำรวจกำลังสืบสวนเหตุฆาตกรรม 4 ศพ ที่พบถูกฝังดินในพื้นที่เมืองหม่องดอ ไม่กี่วันหลังทางการประกาศยุติการปราบปรามกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ. -- Agence France-Presse/State Counsellor Office/Ho.</font></b>

เอเอฟพี - รัฐบาลพม่าเผยตำรวจกำลังสืบสวนเหตุฆาตกรรม 4 ศพ ในรัฐยะไข่ ไม่กี่วันหลังทหารยุติการปราบปรามในพื้นที่ ที่สหประชาชาติเปรียบเทียบกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

สำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐระบุในคำแถลงว่า พบศพผู้หญิง 3 ศพ และผู้ชาย 1 ศพ ฝังอยู่ในทุ่งใกล้หมู่บ้านลูพันเปง ในเมืองหม่องดอ เมื่อวันพฤหัสฯ (16)

“บนร่างของผู้ชายพบรอยบาดแผลลึกที่บริเวณรักแร้ซ้าย และศีรษะแตกเปิดออก ส่วนศพผู้หญิง 2 ศพ จากทั้งหมด 3 ศพ มีบาดแผลลึกที่หลัง และกระดูกสันหลังหัก” คำแถลงของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐระบุ โดยไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าเหยื่อเป็นใคร

ศพถูกพบหนึ่งวันหลังรัฐบาลประกาศยุติปฏิบัติการปราบปรามกวาดล้างในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่เริ่มดำเนินการเพื่อค้นหาผู้ก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านตำรวจในเดือน ต.ค.

สหประชาชาติกล่าวว่า การค้นหาผู้ก่อความไม่สงบถูกใช้เป็นฉากหน้าสำหรับการปราบปรามนาน 4 เดือน ที่กองกำลังรักษาความมั่นคงได้สังหารชาวมุสลิมโรฮิงญาไปหลายร้อยคน

ตั้งแต่นั้น ชาวโรฮิงญามากกว่า 70,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ พร้อมเปิดเผยเรื่องราวที่อ้างว่ากองกำลังทหารรุมข่มขืนผู้หญิง สังหารเด็ก และเผาคนทั้งเป็น ขณะที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติที่สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยกล่าวว่า ความรุนแรงมีแนวโน้มอย่างมากที่เทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

เป็นเวลาหลายเดือนที่พม่าได้จำกัดการเข้าถึงพื้นที่ปราบปรามใกล้พรมแดนบังกลาเทศ และปฏิเสธข้อกล่าวหาที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน และนักข่าวรายงาน แต่รายงานของสหประชาชาติได้สร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลของนางอองซานซูจี

นับแต่รายงานของสหประชาชาติเผยแพร่ออกมา สื่อทางการพม่าได้รายงานความเคลื่อนไหวของคณะกรรมการที่มีหน้าที่สืบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิในรัฐยะไข่เป็นประจำทุกวัน

แต่นักวิจารณ์ปฏิเสธคณะกรรมการสืบสวนที่มีรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย เป็นหัวหน้าคณะ และไม่มีสมาชิกชาวมุสลิมรวมอยู่ในคณะ ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติกล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าเชื่อถือ และเรียกร้องให้มีการสืบสวนระหว่างประเทศในข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิต่างๆ.
กำลังโหลดความคิดเห็น