เอฟพี - โรฮิงญาหลายร้อยชีวิตที่หลบหนีความรุนแรง และการกดขี่ข่มเหงในพม่าข้ามมาอาศัยในบังกลาเทศ ได้เริ่มทยอยเดินทางกลับบ้าน ตามการเปิดเผยของแกนนำชุมชนวานนี้ (19) แต่มีบางส่วนที่เดินทางกลับชั่วคราวเพื่อไปตามญาติพี่น้อง
ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนได้หลบหนีข้ามพรมแดนจากรัฐยะไข่ ของพม่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. เพื่อหนีการปรามปรามของกองกำลังทหาร และตำรวจ
ดูดู มิอา แกนนำค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองเทคนาฟ กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาเกือบ 1,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม ได้เดินทางกลับไปยังหมู่บ้านของตนเพื่อตามสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งถูกทิ้งไว้ข้างหลังก่อนหน้านี้
“ชายเหล่านี้ส่วนใหญ่หวังที่จะพาญาติพี่น้องกลับมาบังกลาเทศ เพราะเป็นเวลานาน 4 เดือนแล้วที่พวกเขาจะได้คุยกับพ่อแม่ที่บ้าน” มิอา กล่าว
กองทัพพม่าระงับปฏิบัติการปราบปรามในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ตามการระบุของเจ้าหน้าที่อาวุโสของพม่าเมื่อสัปดาห์ก่อน ยุติการปราบปรามรุนแรงที่ดำเนินมานาน 4 เดือน ซึ่งสหประชาชาติ เตือนว่า อาจรุนแรงเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
คาดว่ามีชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตหลายร้อยคน และเกือบ 70,000 คน ได้หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศ ตั้งแต่ที่ทหารเริ่มกวาดล้างพื้นที่เพื่อค้นหาตัวผู้ก่อเหตุความไม่สงบโจมตีด่านตำรวจชายแดน
เจ้าหน้าที่บังกลาเทศประเมินว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 400,000 คน อาศัยอยู่ในบังกลาเทศเวลานี้ รวมทั้งอีกเกือบ 70,000 คน ที่เพิ่งเดินทางเข้ามาใหม่
แกนนำชาวโรฮิงญาอีกรายหนึ่งกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยบางคนได้ออกจากบังกลาเทศอย่างถาวรเพราะหมู่บ้านของพวกเขาไม่ได้เสียหายจากการปราบปรามของกองทัพ และพวกเขามีทรัพย์สินต้องดูแล
“พวกเขาออกจากบ้านมาเพราะพวกเขารู้สึกตื่นกลัว พวกเขาไม่ได้ต้องการอยู่ที่นี่เป็นขอทาน ยิ่งกว่านั้น พวกเขาต้องการที่จะอาศัยอยู่ในบ้านของตัวเองและทำงานในที่ดินของตัวเอง” แกนนำชุมชน กล่าว
หน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศยืนยันว่า มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาส่วนหนึ่งเดินทางกลับพม่า
“มีรายงานว่าชาวโรฮิงญาจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้านในช่วง 2-3 วันมานี้ แต่เรายังคงเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดป้องกันการลักลอบแทรกซึม” เจ้าหน้าที่บังกลาเทศ กล่าว
ภาพถ่ายดาวเทียมที่เผยแพร่เมื่อปีก่อนโดยฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยให้เห็นหมู่บ้านชาวโรฮิงญาที่ถูกเผาราบ
ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ที่หลบหนีไปบังกลาเทศเวลานี้อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ ที่มีพรมแดนติดกับรัฐยะไข่ และยังเป็นแหล่งที่ตั้งของรีสอร์ตท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งทางการบังกลาเทศได้อนุมัติแผนที่จะย้ายถิ่นฐานชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไปอยู่บนเกาะ.