รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ฝ่ายกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า ได้รับบาดเจ็บ 2 นาย หลังปะทะกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนของรัฐยะไข่ ติดกับบังกลาเทศ ตามการเปิดเผยของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐ ที่ก่อให้เกิดข้อสงสัยถึงคำกล่าวอ้างของรัฐบาลที่ว่า พื้นที่ดังกล่าวกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ
รัฐบาลพม่าระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่มีเสถียรภาพ และได้ยุติการปิดล้อมพื้นที่เพื่อปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ดำเนินมานาน 4 เดือน
ปฏิบัติการรักษาความมั่นคงเริ่มขึ้นตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย เสียชีวิตจากเหตุโจมตีด่านชายแดนตำรวจใกล้พรมแดนบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. และทำให้ชาวโรฮิงญาเกือบ 69,000 คน อพยพหนีการปราบปรามของทางการข้ามไปฝั่งบังกลาเทศนับแต่นั้น ตามการประเมินของสหประชาชาติ ที่ระบุว่า การปราบปรามความมั่นคงอาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และอาจเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
คำแถลงของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐระบุเมื่อวันเสาร์ (18) ระบุว่า ทหาร 2 นาย ได้รับบาดเจ็บในการปะทะกันนาน 5 นาที กับกลุ่มติดอาวุธบนชายแดนติดบังกลาเทศเมื่อบ่ายวันศุกร์ (17)
“กองกำลังรักษาความมั่นคง และคนงานกำลังเตรียมรั้วชายแดนระหว่างหลักกิโลที่ 56 และ 57 ในเมืองพุทธิด่อง ถูกโจมตีโดยกลุ่มชายติดอาวุธที่สวมเครื่องแบบสีดำราว 30 คน ซึ่งประจำการอยู่บนเนินเขาในฝั่งบังกลาเทศ” คำแถลงของสำนักงานระบุ พร้อมอธิบายว่า กลุ่มชายติดอาวุธได้ล่าถอยหลังกองกำลังรักษาความมั่นคงยิงโต้กลับ
กองกำลังรักษาความมั่นคงยังคงรวบรวมข้อมูลเพื่อระบุจำนวนสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธดังกล่าวที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตระหว่างการปะทะ
รัฐบาลพม่ากล่าวโทษชาวโรฮิงญาที่ได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังต่างชาติว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีตำรวจเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ขณะเดียวกัน ก็ประกาศว่ายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับผู้โจมตีที่รัฐบาลพม่าเรียกว่า “ผู้ก่อการร้าย”
ขณะที่กลุ่มวิกฤติการณ์ระหว่างประเทศ ระบุในรายงานเมื่อปีก่อนว่า กลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญาที่เกี่ยวข้องในการโจมตีเดือน ต.ค. มีผู้นำกลุ่มที่เชื่อมโยงกับซาอุดีอาระเบีย และปากีสถาน
รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ รวมทั้งการสังหารหมู่ และการรุมข่มขืนชาวมุสลิมโรฮิงญา และกล่าวว่าปฏิบัติการที่ดำเนินในพื้นที่เป็นไปตามกฎหมาย
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ครั้งนี้นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหม่จากนานาชาติว่า ผู้นำพม่าดำเนินการช่วยเหลือสมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมน้อยเกินไป ซึ่งหลายคนใช้ชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกแบ่งแยกในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ
ชาวมุสลิมโรฮิงญาต้องเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติในพม่ามานานหลายชั่วอายุคน ด้วยคนกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ.