xs
xsm
sm
md
lg

ค้นหามา 31 ปีเพิ่งได้กลับบ้าน ลาวส่งมอบเศษชิ้นส่วนจีไอให้สหรัฐอีกคน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#00003>ภาพแฟ้มพิธีส่งมอบเศษซากทหารอเมริกัน 1 คน ในเดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ที่สนามบินสะหวันนะเขต ปลายสัปดาห์ที่แล้วก็มีพิธีส่งมอบซากชิ้นส่วนของทหารอีก 1 คน ที่สนามบินแห่งเดียวกันนี้ ทำให้เหลือจำนวนที่จะต้องค้นหากันต่อไปอีก 300 คน. -- สถานทูตสหรัฐนครเวียงจันทน์. </b>

MGRออนไลน์ -- ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางการลาวได้ส่งมอบเศษชิ้นส่วนทหารอเมริกันที่เสียชีวิตในดินลาว ให้แก่ฝ่ายสหรัฐอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งทำให้จำนวนที่ส่งมอบเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 50% ของทหารที่สูญหาย ในช่วงปีแห่งสงครามเวียดนาม และ หลังจากทั้งสองฝ่ายร่วมกันออกสำรวจและขุดค้นหา มาเป็นเวลากว่า 30 ปี

ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ให้รายละเอียดว่า เศษซากที่ค้นพบล่าสุดนี้ เป็นของทหารที่เสียชีวิตจำนวนกี่คน แต่หากเทียบกับยอดเมื่อปีที่แล้ว หลังการส่งมอบในเดือน มิ.ย. ก็จะมีตัวเลขบ่งชี้ว่า ครั้งล่าสุดนี้เป็นซากชิ้นส่วนของทหารอเมริกันเพียงคนเดียว

เศษซากทั้งหมดขุดขึ้นมาจากแหล่ง ในเขตบ้านผานบ เมือง (อำเภอ) บัวละพา แขวงคำม่วน ทางตอนกลางของประเทศ พิธีส่งมอบจัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่สนามบินสะวันนะเขต โดยนายแสงเพ็ด ฮุ่งบุนยวง รองรัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐบาลลาว และ นางเรนา บิตเตอร์ (Rena Bitter) เอกอัครราชทูตประจำลาว เป็นตัวแทนฝ่ายสหรัฐ

ปัจจุบันนายแสงเพ็ดเป็นผู้ชี้นำ งานการสำรวจและค้นหาทหารอเมริกัน ที่เสียชีวิตในดินแดนลาวในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ หรือที่เรียกว่า MIA (Missing in Action) ซึ่งตัวเลขของฝ่ายสหรัฐระบุว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 573 คน

ตามตัวเลขที่รายงานโดยสำนักข่าวสารปะเทดลาว การร่วมกันค้นหาผู้สูญหาย/เสียชีวิต เหล่านี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2528 บนพื้นฐานมนุษยธรรม เพื่อช่วยให้ครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง นำผู้เสียชีวิตบ้านเกิด เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาตามประเพณี และ เป็นไปตามการร้องของรัฐบาลสหรัฐ จนถึงปัจจุบันสามารถค้นพบและส่งมอบได้ทั้งสิ้น 273 คน

ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาลราชอาณาจักรลาว ต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว และ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า ไม่เคยมีทหารอเมริกัน เข้าไปปฏิบัติการรบทางภาคพื้นดินในดินแดนลาว เกือบทั้งหมดเป็นทหารอากาศ เสียชีวิตเนื่องจากเครื่องบินตก หลังถูกยิงขณะปฏิบัติการทิ้งระเบิดในดินแดนเวียดนาม ทั้งที่ไปจากฐานทัพในไทย และ ในเวียดนามเอง

หลายกรณีเป็นทหารบก ที่เสียชีวิตในกรณีเฮลิคอปเตอร์ หรือ เครื่องบินบรรทุกถูกยิงตก ขณะบินสนับสนุนทหารฝ่ายเวียดนามใต้ ที่รุกล้ำเข้าไปปฏิบัติการในดินแดนลาวในช่วงหนึ่ง และ อีกหลายกรณีตกเพราะอุบัติเหตุ ขณะออกบินค้นหาทหารที่สูญหาย จากกรณีเครื่องบินตกในดินแดนลาว

สหรัฐไม่เคยประกาศสงครามกับลาว หากเป็นการทำสงครามลับ โดยองค์การสืบราชการลับซีไอเอ ด้วยการจัดตั้งกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ม้งขึ้นมาในภาคเหนือ และ ว่าจ้าง "ทหารอาสาสมัคร" จากประเทศเพื่อนบ้าน ไปเพื่อสู้รบกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ กับกองกำลังเวียดนามเหนือ ในดินแดนลาว

รัฐสภาสหรัฐในยุคนั้น มีมติห้ามรัฐบาล ขยายสงครามเวียดนามเข้าสู่ดินแดนลาวกับกัมพูชา และ การสู้รบในดินแดนลาว เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกัน ในยุคนั้นไม่เคยรับรู้ รวมทั้งการทิ้งระเบิดในดินแดนลาวอย่างหนัก ตามคำสั่งโดยพลการของประธานาธิบดีอีกด้วย

เมื่อเดินทางไปเยือนลาวอย่างเป็นทางการ เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว นายบารัค โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ได้หยิบยกความจริงเหล่านี้ขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ระหว่างการปราศรัยต่อชาวลาว ในนครเวียงจันทน์ รวมทั้งประกาศอนุมัติเงินจำนวน 90 ล้านดอลลาร์ ช่วยเหลือโครงการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ตกค้างมาตั้งแต่ครั้งสงคราม และ การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวลาว ที่ได้รับผลกระทบ

การเก็บกู้วัตถุระเบิดดำเนินมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ก็ยังกู้ได้ไม่มาก หากเทียบกับระเบิดชนิดต่างๆ น้ำหนักรวมกันว่า 2 ล้านตัน ที่สหรัฐ ทิ้งลงในดินแดนลาว ซึ่งในนั้นเชื่อว่าจำนวนกว่า 1 ใน 3 ยังไม่ระเบิด และ ภารกิจนี้จะต้องดำเนินต่อไป เช่นเดียวกันกับการค้นหาทหารสหรัฐที่เสียสูญหาย

การค้นหาส่วนใหญ่อาศัยข้อมูล เส้นทางการบิน และ จุดพิกัดที่มีการส่งวิทยุสื่อสารกันครั้งสุดท้าย รวมทั้งจุดที่ปรากฏตัวครั้งสุดท้ายบนจอเรดาร์เป็นหลัก โดยข้อมูลที่ล้ำค่ายิ่งกว่าก็คือ จากการบอกเล่าของราษฎรลาว ที่เห็นเหตุการณ์ ซึ่งหลายกรณีสามารถนำไปยัง จุดหรือแหล่งที่เครื่องบินตกได้ อย่างถูกต้อง

แต่เวลาเนิ่นนานออกไป พยานบุคคลเหล่านั้นได้ทะยอยเสียชีวิตจากไป เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิศาสตร์ เช่นน้ำท่วม หรือ โคลนทรายที่ทับถมปีแล้วปีเล่า ได้ทำให้แหล่งเครื่องบินตกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งทำให้การค้นหายากขึ้นทุกทีๆ

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวของทางการลาวกล่าวว่า สองฝ่ายจะร่วมกันสำรวจและขุดค้นหาผู้ที่สูญหายหรือเสียชีวิต ที่เหลืออยู่อีก 300 คนต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น