รอยเตอร์ - พม่ากำลังจะสอบสวนว่าตำรวจได้กระทำการละเมิดสิทธิต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาหรือไม่ หลังเจ้าหน้าที่ให้คำมั่นว่า ข้อกล่าวหาร้ายแรงต่างๆ ต่อสมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมจะถูกตรวจสอบ
สำนักงานด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในรายงานเดือนนี้ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า ได้กระทำการสังหารหมู่ และรุมข่มขืนชาวมุมสลิมโรฮิงญา และเผาหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ตั้งแต่เดือน ต.ค. ในการดำเนินการที่มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
พม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธมนุษยชนในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ และระบุว่า การดำเนินการปราบปรามของทหารเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจ 9 นาย ถูกสังหารในเหตุโจมตีด่านรักษาความมั่นคงใกล้พรมแดนบังกลาเทศเมื่อวันที่ 9 ต.ค.
กองทัพระบุเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทหารกำลังตั้งทีมขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำทารุณโหดร้ายของกองกำลังรักษาความมั่นคง และกระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการเช่นเดียวกันในสุดสัปดาห์ พร้อมกับให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบตำรวจ
กระทรวงมหาดไทย กล่าวในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า การตรวจสอบหน่วยงานจะถูกดำเนินการเพื่อค้นหาว่ากองกำลังตำรวจได้กระทำการที่ผิดกฎหมาย ซึ่งรวมทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างการปฏิบัติการกวาดล้างพื้นที่หรือไม่ และจะดำเนินมาตรการต่อบุคคลที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง
“สหประชาชาติได้ระบุถึงรายงานจำนวนมากที่กล่าวอ้างว่าได้เกิดขึ้น และนั่นเป็นเหตุผลที่ตั้งคณะกรรมการสืบสวนขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อรายงานเหล่านั้น” พ.ต.อ.เมียว ทู โซ กล่าว
ส่วนในอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับการปฏิบัติการในรัฐยะไข่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย ได้ถูกตัดสินจำคุก 2 เดือน หลังคลิปวิดีโอชิ้นหนึ่งปรากฏบนโลกออนไลน์ ซึ่งเผยให้เห็นกลุ่มตำรวจกำลังละเมิดสิทธิชาวมุสลิมระหว่างปฏิบัติการ นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจอาวุโส 3 นาย ที่เกี่ยวข้องในคดีดังกล่าวก็ถูกลดตำแหน่ง
นับเป็นสิ่งที่หาได้ยากในพม่าที่กองกำลังรักษาความมั่นคงจะรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ หรือการสืบสวนอย่างโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาเช่นนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าว
ชาวโรฮิงญากว่า 69,000 คน ได้หลบหนีออกจากพม่าไปบังกลาเทศ ตั้งแต่กองกำลังรักษาความมั่นคงเริ่มกวาดล้างพื้นที่ในเดือน ต.ค. ตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ และอาจมีชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 1,000 คน ถูกฆ่าในการปราบปราม ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอาวุโส 2 ราย ที่จัดการต่อผู้ลี้ภัยที่หลบหนีความรุนแรง
โฆษกประธานาธิบดีพม่า กล่าวว่า รายงานล่าสุดจากผู้บัญชาการทหารระบุว่า มีผู้เสียชีวิตไม่ถึง 100 คน ในปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ
ชาวโรฮิงญาราว 1.1 ล้านคน อาศัยอยู่ในสภาพถูกแบ่งแยก และเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติในพม่ามาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคน ด้วยชาวพม่าจำนวนมากมองว่า คนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช่วยเหลือสมาชิกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้น้อยเกินไป.