xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” รับปากสอบสวนข้อกล่าวหากระทำทารุณชาวโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่เพิ่งหลบหนีความรุนแรงในฝั่งพม่ามาบังกลาเทศสร้างเพิงพักในค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองคอกซ์บาซาร์ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. -- Reuters/Mohammad Ponir Hossain.</font></b>

รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนระดับสูงของสหประชาชาติ ระบุว่า นางอองซานซูจี ผู้นำพม่า ได้ให้คำมั่นที่จะสอบสวนข้อกล่าวหาของสหประชาชาติถึงการก่อเหตุทารุณกรรมรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา

กองกำลังรักษาความมั่นคง และตำรวจได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และรุมข่มขืน เผาหมู่บ้าน ในรัฐยะไข่ ตามข้อค้นพบจากการสืบสวนของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ (3)

“ผมได้พูดคุยกับอองซานซูจี ราวชั่วโมงครึ่ง ผมเรียกร้องให้ซูจี ใช้ทุกวิถีทางพยายามกดดันทหาร และหน่วยรักษาความมั่นคงให้ยุติปฏิบัติการนี้ เธอแจ้งต่อผมว่า การสืบสวนจะเริ่มดำเนินการ และพวกเขาต้องการข้อมูลเพิ่มเติม” เซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อรอยเตอร์ที่เจนีวา

ในนครย่างกุ้ง ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีระบุว่า สิ่งเหล่านี้เป็นข้อกล่าวหารุนแรง ซึ่งทางการรู้สึกวิตกอย่างยิ่ง และจะดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหาเหล่านี้โดยทันทีโดยคณะกรรมการการสืบสวนภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย

“ในกรณีที่มีหลักฐานการละเมิด และการฝ่าฝืนอย่างชัดเจน เราจะดำเนินมาตรการจำเป็นทั้งหมด” ซอ เต กล่าว

ก่อนหน้านี้ พม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ และระบุว่า การดำเนินการปราบปรามเป็นไปตามกฎหมาย

นับตั้งแต่การปราบปรามเริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 9 ต.ค. มีชาวโรฮิงญาราว 69,000 คน หลบหนีไปบังกลาเทศ โดยรายงานของสหประชาชาติมาจากการรวบรวมข้อมูลหลักฐานในเดือน ม.ค. จากชาวโรฮิงญา 220 คน ที่หลบหนี

พยานให้การว่า มีการสังหารทารก เด็กเล็ก เด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ เปิดฉากยิงใส่ผู้คนที่กำลังหลบหนี เผาหมู่บ้าน กักขังคนจำนวนมาก ข่มขืนหมู่ และความรุนแรงทางเพศ เจตนาทำลายอาหารและแหล่งอาหาร

ผู้หญิงรายหนึ่งกล่าวต่อผู้สืบสวนสหประชาชาติถึงเหตุการณ์ที่ลูกชายวัย 8 เดือนของเธอถูกปาดคอ ส่วนพยานอีกคนหนึ่งถูกทหารข่มขืน และต้องเห็นลูกสาวอายุ 5 ขวบ ถูกฆ่าเพราะพยายามจะเข้ามาหยุด

รายงานระบุว่า การกระทำต่างๆ ของกองกำลังรักษาความมั่นคง มีแนวโน้มที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

เซอิด กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดของเหตุน่าสะพรึงกลัวเหล่านี้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจจะต้องตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อสอบสวน หรือเกี่ยวข้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ

รายงานระบุว่า ปฏิบัติการกวาดล้างพื้นที่ที่รวมถึงการยิงปืน และทิ้งระเบิดลงหมู่บ้านจากเฮลิคอปเตอร์ อาจสังหารคนหลายร้อยชีวิต เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่า สมาชิกครอบครัวถูกฆ่า หรือหายไป ขณะที่ผู้หญิง 101 คน รายงานว่า ถูกข่มขืน หรือตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศ

ผู้สืบสวนยังได้รวบรวมหลักฐานทั้งที่เป็นภาพถ่ายกระสุน บาดแผลจากมีด รอยไหม้ และการบาดเจ็บที่เป็นผลจากการทำร้ายด้วยพานท้ายปืน หรือไม้ไผ่

ชะตากรรมของชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติที่อยู่ในสภาพถูกแบ่งแยกในรัฐยะไข่ ยังเป็นประเด็นความขัดแย้งยาวนานระหว่างพม่า และบังกลาเทศ.
กำลังโหลดความคิดเห็น