xs
xsm
sm
md
lg

ทนายความที่ปรึกษาพรรคซูจีถูกยิงดับนอกสนามบินย่างกุ้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>โก นี สมาชิกและที่ปรึกษาทางกฎหมายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ขณะให้สัมภาษณ์ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 13 ม.ค. โก นี ถูกยิงเสียชีวิตนอกสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ในวันที่ 29 ม.ค. -- Reuters/Phyo Thiha Cho/Myanmar Now.</font></b>

เอเอฟพี - ทนายความชาวมุสลิมชื่อดัง และเป็นสมาชิกของพรรครัฐบาลพม่าถูกยิงเสียชีวิตพร้อมคนขับรถแท็กซี่นอกสนามบินนานาชาติย่างกุ้ง ในวันนี้ (29) ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่

โก นี ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี ถูกยิงเสียชีวิตขณะเรียกรถแท็กซี่นอกอาคารผู้โดยสารเมื่อเวลาประมาณ 17.00 น. โดยผู้สังหารยังฆ่าคนขับรถด้วย

“ตามข้อมูลเบื้องต้นของเรา โก นี และคนขับรถแท็กซี่ถูกฆ่า” แหล่งข่าวด้านความปลอดภัยที่สนามบิน กล่าวต่อเอเอฟพี

“ชายไม่ทราบชื่อยิงเขาที่ศีรษะขณะที่เขากำลังเรียกแท็กซี่ และถูกจับกุมตัวได้ในเวลาต่อมา” แหล่งข่าวคนเดิม ระบุ

ซอ เต โฆษกสำนักงานประธานาธิบดี กล่าวว่า โก นี เพิ่งเดินทางกลับจากเยือนอินโดนีเซียพร้อมคณะผู้แทนรัฐบาล

“เขา (โก นี) ถูกยิงขณะรอรถนอกสนามบิน โก นี เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ” ซอ เต กล่าว

ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลังการสังหารครั้งนี้ แต่การฆ่ากลางวันแสกๆ เช่นนี้ คาดว่าจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ชุมชนชาวมุสลิมของพม่า

แม้พื้นที่ชายแดนของพม่าจะประสบต่อเหตุความไม่สงบจากชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ แต่เหตุการณ์ที่บุคคลทางการเมืองที่มีชื่อเสียงถูกสังหารในนครย่างกุ้งเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พม่าเผชิญต่อกระแสความรู้สึกต่อต้านชาวมุสลิมที่เพิ่มสูงซึ่งถูกโหมกระพือโดยชาวพุทธชาตินิยมหัวรุนแรง

โก นี ที่ปรึกษาทางกฎหมายของพรรค NLD เป็นผู้สนับสนุนการยอมรับความต่างทางศาสนาและแนวคิดพหุนิยม ที่เน้นแนวทางเรื่องความหลากหลายของกลุ่มคน สังคม และวัฒนธรรม

ในปลายปี 2558 พรรค NLD ของซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ยุติการปกครองนำโดยทหาร แต่ในสิ่งที่นักวิเคราะห์มองอย่างกว้างขวางนั้นพบว่า พรรคไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นชาวมุสลิม แม้จะอ้างว่ามีสมาชิกที่เป็นชาวมุสลิมอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของพรรคหลายคน

ซูจี ยังเผชิญต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของต่างชาติถึงความล้มเหลวที่จะจัดการต่อการปราบปรามทางทหารต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่

นับตั้งแต่ทหารเริ่มดำเนินการปราบปรามในเดือน ต.ค. มีชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 66,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ พร้อมกล่าวหาว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าก่อเหตุข่มขืน ทรมาน และสังหารหมู่ต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้

ชาวพม่าจำนวนมากเรียกชาวโรฮิงญาว่าเบงกาลี ด้วยมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้ว่าหลายคนจะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายชั่วอายุคนก็ตาม

ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ได้แสดงความไม่พอใจต่อเหตุการณ์สังหารโก นี โดยระบุว่า เธอเพิ่งได้พบกับโก นี ระหว่างเยือนพม่าเมื่อต้นเดือน และได้ทวีตข้อความแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของโก นี พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าสืบหาความจริงของเหตุการณ์นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น