xs
xsm
sm
md
lg

OIC ร้องสหประชาชาติแทรกแซงพม่าป้องกันฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มุสลิมโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นักเคลื่อนไหวชาวมุสลิมบังกลาเทศรวมตัวชุมนุมประท้วงต่อต้านการกดขี่ข่มเหงทำร้ายชาวมุสลิมโรฮิงญาในพม่า หลังการปราบปรามทางทหารในรัฐยะไข่ทำให้ชาวโรฮิงญาต้องหลบหนีข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศหลายหมื่นคนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้แทนพิเศษ OIC ประจำพม่าเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซงเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น. -- Agence France-Presse/Rajib Dhar.</font></b>

รอยเตอร์ - สหประชาชาติควรแทรกแซงในรัฐยะไข่ของพม่า เพื่อหยุดยั้งการยกระดับความรุนแรงต่อมุสลิมโรฮิงญา และหลีกเลี่ยงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ดังเช่นที่เกิดขึ้นในกัมพูชา และรวันดา ผู้แทนพิเศษองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ประจำพม่า กล่าว

ความขัดแย้งที่เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 86 คน และอีกราว 66,000 คน ต้องหลบหนีข้ามแดนเข้าไปในฝั่งบังกลาเทศ นับตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มขึ้นในวันที่ 9 ต.ค.2559 ไม่ใช่แค่ปัญหาภายในประเทศเท่านั้น แต่เป็นความวิตกของนานาประเทศด้วย ไซอิด ฮามิด อัลบาร์ ผู้แทนพิเศษขององค์การความร่วมมืออิสลามประจำพม่า กล่าว

ไซอิด ฮามิด อัลบาร์ กล่าวว่า OIC ควรแสวงหาการแทรกแซงของสหประชาชาติ โดยความคิดเห็นดังกล่าวนี้มีขึ้นก่อนการพบหารือนัดพิเศษของ OIC ตามคำเรียกร้องของมาเลเซีย ในวันพฤหัสฯ (19) เพื่อหารือถึงมาตรการที่จะจัดการต่อความขัดแย้งที่มีผลต่อชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา

“เราไม่ต้องการที่จะเห็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ฺ เช่นที่เกิดในกัมพูชา หรือรวันดา เรามีบทเรียนจากอดีตที่เราได้เรียนรู้ และดูว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง” ซาอิด ฮามิด กล่าวต่อรอยเตอร์ในการให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมในกรุงกัวลาลัมเปอร์

ผู้ลี้ภัย ประชาชน และกลุ่มสิทธิมนุษยชนระบุว่า ทหารพม่าได้กระทำการละเมิดสิทธิ ทั้งสังหาร ข่มขืนหญิงโรฮิงญา และเผาบ้านเรือน นับตั้งแต่ปฏิบัติการทางทหารเริ่มขึ้นในรัฐยะไข่ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.

รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ โดยระบุว่า รายงานหลายชิ้นถูกสร้างขึ้น และยืนยันว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่ชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่นั้นเป็นเรื่องภายในประเทศ

การปฏิบัติการทางทหารดำเนินขึ้นเพื่อตอบโต้เหตุโจมตีด่านชายแดนใกล้พรมแดนบังกลาเทศ ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย ซึ่งรัฐบาลพม่าระบุว่า กองกำลังที่ก่อเหตุไม่สงบนั้นมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในต่างประเทศ

โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าวว่า พม่าจะไม่เข้าร่วมการประชุม OIC เนื่องจากพม่าไม่ใช่ประเทศอิสลาม แต่พม่าได้ดำเนินการชี้แจงอย่างชัดเจนต่อประเทศสมาชิกในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ในการประชุมกลุ่มเมื่อเดือน ธ.ค. และการแทรกแซงของสหประชาชาติจะจบลงที่การเผชิญต่อการต่อต้านที่ไม่พึงประสงค์จากประชาชนท้องถิ่น

“ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ประชาคมโลกควรใช้วิธีการสร้างสรรค์ และเข้าใจอย่างกว้างขวางต่อสถานการณ์ความขัดแย้งของประเทศเรา” ซอ เต โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีพม่า กล่าว

ปัจจุบัน มีโรฮิงญาประมาณ 56,000 คน อาศัยอยู่ในมาเลเซีย ที่หลบหนีเหตุไม่สงบครั้งก่อนหน้านี้ในพม่า

มาเลเซีย ชาติที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ได้ทำลายธรรมเนียมปฏิบัติของการไม่แทรกแซงกิจการภายในประเทศของชาติสมาชิก ด้วยการกล่าวถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพม่า และเรียกร้องให้อาเซียนประสานงานความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และตรวจสอบเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อชาติพันธุ์กลุ่มนี้

ซอ เต ได้วิพากษ์วิจารณ์ตอบโต้มาเลเซียที่กล่าวถึงความขัดแย้งของพม่าว่า มาเลเซียควรจัดการวิกฤตทางการเมืองของตนเอง และเลี่ยงการส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มหัวรุนแรง และความรุนแรงในพม่า

“รัฐบาลใหม่ของเรากำลังทำงานอย่างจริงจัง และระมัดระวังต่อสถานการณ์ในรัฐยะไข่ เรากำลังทำงานกับปัญหาที่มีความยากและซับซ้อน ทำให้เราต้องการเวลาเพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก” ซอ เต กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น