MGRออนไลน์ -- ถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว ที่รัฐบาลลาว ไม่ออกใบอนุญาตให้นักลงทุนรายใหม่ เข้าไปสัมปทานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่อีก หลังจากทรัพยากรล้ำค่าไปตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติมากมาย ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงที่ผ่านมากระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ ยังได้ยึดคืนหรือเพิกถอนใบอนุญาต นักลงทุนทำเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐาน ไปอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ถึงกระนั้นก็ตาม ในปัจจุบันมีผู้ถือใบอนุญาตเข้าลงทุนในแขนงการผลิตนี้ ถึง 657 ราย รวม 942 กิจการ ในจำนวนนี้มีเพียง 226 ราย ที่ได้รับนุญาตจากขั้นศูนย์กลาง (ที่เหลือได้รับอนุญาตจากทางการแขวงในท้องถิ่น -บก.) นี่คือข้อมูลล่าสุด ที่นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีพลังงานและเหมืองแร่ เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวเมื่อไม่นานมานี้
ปัจจุบันมีนักลงทุน 80 บริษัท กำลังดำเนินการขุดค้นและผลิตแร่ธาตุที่มีมูลค่าสูงชนิดต่างๆ อีก 146 รายกำลังสำรวจค้นหา อยู่ในปัจจุบัน สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงานอ้าง ดร.คำมะนี
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2555 รัฐบาลได้ออกคำสั่งฉบับหนึ่ง ห้ามกระทรวง แขวง หรือ หน่วยงานใดก็ตาม ออกใบอนุญาตให้แก่โครงการสำรวจ หรือการลงทุนใน 3 แขนงสำคัญ ซึ่งได้แก่ การทำสวนยางพารา การปลูกป่ายูคาลิปตัส และ การทำเหมืองแร่ทุกชนิด ในขอบเขตทั่วประเทศ
ตามรายงานของสื่อทางการ คำสั่งห้ามดังกล่าว ออกมาหลังจากได้มีการสำรวจศึกษา และพบว่า โครงการทั้งสามประเภท ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ การตัดไม้ทำลายป่า และ การเบียดยึดที่ดินทำกินของราษฎร ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางสังคม กับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ติดตามมา
นับตั้งแต่นั้น รัฐบาลได้มีประกาศยืนยันคำสั่งห้ามดังกล่าว มาต่ออย่างเนื่องมาทุกปี
กว่าสิบปีมานี้ลาวได้ให้สัมปทานการสำรวจขุดค้น และ การทำเหมืองทอง ทองแดง เหมืองเงิน เหมืองบ็อกไซต์ กับ แร่มูลค่าสูงอื่นๆ ให้แก่นักลงทุนต่างชาติหลายราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองแร่จากออสเตรเลีย ที่ดำเนินกิจการเหมืองขนาดใหญ่ที่สุดในลาวปัจจุบัน กับอีกแห่งหนึ่งคือเมืองเซโปน ในแขวงสะหวันนะเขต ที่ตกทอดไปสู่มือของบริษัทจีน ซึ่งเหมืองแห่งนี้ผลิตแร่ทองคำจนหมดแล้ว คงเหลือแต่ทองแดงและอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง
ในลาวยังมีทรัพยากรแร่ธาตุราคาสูงเหลืออยู่อีกมาก ระหว่างไปร่วมการประชุมใหญ่พรรคประชาชนปฏิวัติลาวในนครเวียงจันทน์ เจ้าแขวงอัตตะปือ ได้ประกาศการค้นพบสินแร่ทองคำ กับอัญมณีล้ำค่าอีกหลายชนิด ในปริมาณมหาศาล ทรัพยากรล้ำค่าเหล่านี้ อาจมีมูลค่ารวมกันราว 100.000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท อาจต้องใช้เวลาขุดค้นและผลิตนานนับร้อยปีจึงจะหมด
แน่นอนที่สุด ข่าวนี้ย่อมได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ เป็นอย่างมาก แต่รัฐบาลลาวยังคงปิดประตูกัน ไม่ออกใบอนุญาตการสำรวจ ขุดค้นอีก
ดร.คำมะนีกล่าวว่า นอกจากจะไม่ออกใบอนุญาตแล้ว ที่ผ่านมากระทรวงฯ ยังได้ตรวจตรา และ มีคำสั่งให้ยกเลิก หรือ หยุดบทบาทของบริษัทจำนวนหนึ่ง ที่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเหมือง หลังจากได้พบว่า "ຂາດບົດຮຽນໃນການຈັດຕັ້ງປະຕິບັດ ແລະ ມີປະສິດ ທິຜົນຕ່ຳ" ขปล.รายงาน
รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้กล่าวอีกว่า ขั้นตอนการอนุมัติดำเนินกิจการเหมืองแร่นั้น ประกอบด้วย 2 สัญญา ซึ่งได้แก่ สัญญาการศึกษาสำรวจค้นหา กับ สัญญาการขุดค้นซึ่งหมายถึงการผลิต แต่บริษัทใดที่ได้รับอนุญาตแล้ว แต่ไม่ดำเนินการ หรือ ดำเนินการไม่ได้มาตรฐาน จะถูกยกเลิกสัญญาไป.