MGRออนไลน์ -- กองทรวงป้องกันประเทศลาวได้ จัดกำลังพลหลายหน่วยรวม 5 กองพัน เข้ารับผิดชอบงานค้นหาและเก็บกู้วัตถุระเบิด ตามแนวทางรถไฟลาว-จีน ที่จะมีการสำรวจทางธรณีศาสตร์ และ ก่อสร้างทั้ง 6 ระยะ ตาม 6 สัญญาก่อสร้าง ที่เซ็นกับบริษัทก่อสร้างจีนหลายแห่งปลายปีที่แล้ว พิธีจัดขึ้นในนครเวียงจันทน์ หลังช่วงวันหยุดเทศกาลที่ผ่านมา ซึ่งได้กลายเป็นอีกรูปธรรมหนึ่งในแผนการอันทะเยอทะยานของทั้งสองประเทศ ที่จะเปิดประตูจากมณฑลภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ออกสู่ทะเลอ่าวไทย ลงไปจนถึงท่าเรือในสิงคโปร์
พล.ท.จันสะหมอน จันยาลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงป้องกันประเทศ ได้เป็นประธานในพิธี ที่จัดขึ้นในวันที่ 4 ม.ค. โดยมีนายบุนจัน สินทะวง รมว.โยธาธิการและขนส่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะชี้นำโครงการก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน พร้อมคณะนำบรรดากรมใหญ่ ของกองทัพประชาชน ตลอดจนแขกรับเชิญ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สำนักข่าวของทางการรายงาน
พล.จ.คำเลียง อุทะไกสอน รองหัวหน้ากรมใหญ่เสนาธิการกองทัพ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะชี้นำ งานค้นหาและเก็บกู้ระเบิด ที่ตกค้างมาตั้งแต่ครั้งสงคราม สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟ ได้รายงานในพิธีว่า กระทรวงป้องกันประเทศ ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ได้มอบภารกิจนี้ให้กรมใหญ่เสนาธิการ รับผิดชอบ เพื่อ เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด รับประกันความปลอดภัย พื้นที่ตลอดเส้นทางรถไฟความยาวกว่า 400 กม. จากชายแดนบ่อแตน ไปจนถึงนครหลวง
กรมใหญ่เสนาธิการ ได้มอบหมายให้ 5 กองพันน้อย รวมทั้งกรมทหารช่าง จัดกำลังพลรวมกว่า 300 นายเพื่อการนี้ ครอบคลุมแนวทาง และ พื้นที่ที่จะมีการเจาะสำรวจทางธรณีศาสตร์ ทั้งบนบกและในน้ำ โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยรับผิดชอบ ในแต่ละส่วนอย่างละเอียด มีการศึกษาทางวิชาการและเทคนิค รวมทั้งการบริหารจัดการอย่างรัดกุม
รอง หน.กรมใหญ่เสนาธิการ รายงานต่อประธานในพิธีว่า ได้จัดทหาร 1 หมวดเคลื่อนที่ เพื่อออกตรวจหาและทำลายวัตถุระเบิดทางบก อีก 1 หมวด รับผิดชอบการค้นหาและเก็บกู้-ทำลายวัตถุระเบิดในน้ำ กับอีก 6 กอง ตรวจหาและเก็บกู้-ทำลาย วัตถุระเบิด ตามระยะทางแต่ละช่วงสัญญาก่อสร้าง รวม 6 สัญญา แต่ละหน่วยจะมีหมวดวิชาการประจำ รวมเป็นกำลังพลทั้งหมดกว่า 340 คน
ในรายละเอียดที่นำเสนอนั้น กองพันน้อย 564 สังกัดกองพลที่ 4 รับผิดชอบระยะที่ 1 จากชายแดนบ่อแตน จนถึงบ้านหลัก 20 เมืองไซ แขวงอุดมไซ รวมความยาวตามแนวทาง 52.82 กิโลเมตร และ กองพันน้อย 563 กองพลที่ 3 รับผิดชอบระยะที่ 2 จากบ้านหลัก 20 เมืองไซ ไปจนถึงบ้านถิ่น เมืองงา แขวงอุดมไซ จนถึงบ้านลองอ้อ เมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 66.95 กม.
กองพันน้อย 567 สังกัดกองพลที่ 2 รับผิดชอบระยะที่ 3 จากบ้านลองอ้อ เมืองเชียงเงิน แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 59.2 กม. และ กองพันน้อย 561 กองพลที่ 1 รับผิดชอบระยะที่ 4 จากบ้านลองอ้อ เมืองเชียงเงิน ไปจนถึงบ้านสมสะหวาด เมืองวังเวียง แขวงเวียงจันทน์ ระยะทาง 74.99 กม.
ต่อจากนั้่น กองพันน้อย 579 กรมทหารช่าง (กรมช่างแสง) รับผิดชอบระยะที่ 5 และ 6 ที่เริ่มจากบ้านสมสะหวาด เมืองวังเวียง ลงไปจนถึงบ้านน้ำลิน เมืองโพนโฮง แขวงเวียงจันทน์เดียวกัน เป็นระยะทาง 65.7 กม. (ซึ่งเกือบทั้งหมดของระยะทางในเขตพื้นราบ - บก.)
.
2
ยานพาหนะที่ใช้ในการออกตรวจหาและเก็บกู้ วัตถุระเบิด ในเบื้องต้นจะใช้รถบรรทุก จำนวน 6 คัน รถกระบะอีก 6 คัน มีเครื่องมือตรวจค้นหาวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่ง ทั้งทางบกและทางน้ำ เพื่อรับประกันให้งานเจาะสรวจทางธรณีศาาสตร์ และการก่อสร้างมีความปลอดภัย สำนักข่าวสารปะเทดลาวรายงาน
รัฐมนตรีป้องกันประเทศกล่าวว่า การก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติครั้งที่ 8 ว่าด้วยการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ ทำให้ลาวประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล กลายเป็นดินแดนแห่งการเชื่อมต่อและการส่งทางบก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งสินค้า เปลี่ยนถ่ายสินค้า ตามแผนการที่เรียกว่า "การพัฒนาสีเขียวอย่างยั่งยืน" จนถึงปี 2573
พล.ท.จันสะหมอนได้ย้ำให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง รับประกันให้การก่อสร้างทางรถไฟ มีความปลอดภัย และ สำเร็จตามแผนการที่วางเอาไว้
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.2559 รัฐบาลลาวได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง ขึ้นในแขวงหลวงพระบาง โดยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สำหรับโครงการมูลค่า 5,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นการก่อสร้างครั้งใหญ่ที่สุดในดินแดนลาว โดยคาดว่าจะต้องนำเข้าแรงงาน กับช่าง และ วิศวกรจากต่างประเทศนับหมื่นคน สำหรับการก่อสร้างเป็นเวลา 60 เดือน ทางการลาวได้จัดเตรียม เสบียงอาหารรองรับ และ จัดรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
รัฐบาลจีนถือหุ้นใหญ่ 65% ในโครงการนี้ และ รัฐบาลลาวถือหุ้นส่วนที่เหลืออีก 35% ในเส้นทางรถไฟ 417 กม. จากชายแดนลาว-จีน ไปยังสถานีสุดท้าย ในย่านรอบนอกนครเวียงจันทน์ โดยมีแผนการจะต่อไปยังสถานีรถไฟปัจจุบัน ที่บ้านดงโพสี ท่านาแล้ง ใกล้กับสะพานมิตรภาพลาว-ไทย ด้าน จ.หนองคาย เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับข่ายรถไฟของไทย ในอนาคต
ตามข้อมูลของ กระทรวงโยธิการและก่อสร้าง ที่เผยแพร่ก่อหน้านี้ ทางรถไฟลาว-จีนจะเป็นทางรถไฟมาตรฐานชั้นหนึ่งประเภทรางเดี่ยว กำหนดความเร็วสำหรับการขนส่งผู้โดยสาร ในเขตภูเขาเอาไว้ที่ 160 กม/ชม และ 200 กม/ชม ในเขตพื้นราบ และ ออกแบบความเร็ว สำหรับการขนส่งสินค้าไว้ที่ 120 กม/ชม
ตลอดเส้นทางประกอบด้วยสะพาน167 แห่ง รวมความยาวกว่า 61 กม. คิดเป็น 14.9% ของระยะทางทั้งหมด กำลังจะมีการก่อสร้างท่อระบายน้ำ 649 แห่ง ยาว 20 กม. สร้างอุโมงค์ 75 แห่ง รวม 197 กม. หรือ 47.7% อุโมงค์ที่ยาวที่สุด ยาวประมาณ 12 กม. อยู่ในเขตเมือง (อำเภอ) กาสี แขวงเวียงจันทน์ ตลอดเส้นทางประกอบด้วยสถานีทั้งหมด 32 แห่ง ในนั้น 21 สถานีสำหรับสับราง 11 สถานีโดยสาร กับ สถานีสินค้าอีก 1 แห่ง
โครงการเชื่อมต่อระบบรางในลาว ยังมีมากกว่านั้น จากนครเวียงจันทน์ จะมีรถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร อีกสายหนึ่ง ลากยางลงใต้ ไปยังแขวงคำม่วน และเลย ลงไปจนถึงแขวงจำปาสักทางตอนใต้สุด เพื่อเชื่อมต่อกับระบบทางรถไฟในกัมพูชาในอนาคต กับอีกเส้นทางหนึ่ง แยกจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน ตรงไปยังท่าเรือน้ำลึกแห่งหนึ่ง ในภาคกลางตอนบนของเวียดนาม.