เอเอฟพี - สหประชาชาติ เปิดเผยตัวเลขน่าตกใจพบว่า ชาวโรฮิงญาในฝั่งพม่าอย่างน้อย 65,000 คน ได้หลบหนีข้ามแดนเข้าไปในบังกลาเทศ และ 1 ใน 3 ของกลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ที่เดินทางในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่กองทัพพม่าดำเนินการปราบปรามในรัฐยะไข่
ตัวเลขผู้หลบหนีการปราบปรามทางทหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่าเป็นผลจากการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงที่อาจกลายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้เดินทางออกจากพม่าในวันเดียวกันกับที่ ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ เดินทางถึงพม่า เพื่อตรวจสอบความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนของประเทศ และจะเข้าไปยังพื้นที่ที่กองทัพควบคุมอยู่
“ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานระบุว่า มีผู้เดินทางมาถึงใหม่ 22,000 คน ที่ข้ามฝั่งชายแดนมาจากรัฐยะไข่” หน่วยงานบรรเทาทุกข์ของสหประชาชาติระบุในรายงานประจำสัปดาห์
“จนถึงวันที่ 5 ม.ค. มีประชาชนประมาณ 65,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายจดทะเบียน ที่พักชั่วคราว และชุมชนต่างๆ ในเมืองคอกซ์บาซาร์ ทางใต้ของบังกลาเทศ” สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ กล่าว
การอพยพของชาวโรฮิงญาเป็นจำนวนมากจากพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ เริ่มขึ้นหลังกองทัพพม่าเริ่มปฏิบัติการกวาดล้างเพื่อค้นหาผู้ก่อเหตุไม่สงบที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อ 3 เดือนก่อน
ผู้หลบหนีจากชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่อยู่ในบังกลาเทศได้เผยว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงก่อเหตุข่มขืนหมู่ สังหาร และวางเพลิง ซึ่งรัฐบาลพม่าได้กล่าวว่า ข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิเหล่านี้ถูกกุขึ้น และได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษเข้าสืบสวนในข้อกล่าวหาต่างๆ
และเมื่อสัปดาห์ก่อน ทางการพม่าได้นำเสนอรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินงานปฏิเสธข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการกดขี่ทางศาสนา และกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะระบุได้ว่ากองกำลังทหารได้กระทำการข่มขืน
ในวันจันทร์ (9) ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติ ได้เริ่มต้นการตรวจสอบด้วยการลงพื้นที่รัฐกะฉิ่น ที่ประชาชนหลายพันคนต้องหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยเนื่องจากการสู้รบระหว่างกลุ่มกบฏชาติพันธุ์ และกองทัพ และมีกำหนดเดินทางไปเยือนรัฐยะไข่ ก่อนปิดภารกิจการเยือนนาน 12 วัน ในวันที่ 20 ม.ค.