MGRออนไลน์ -- องค์การบริหารการบินเวียดนาม ได้ขอให้สายการบินแห่งชาติและสายการบินสัญชาติเวียดนามทุกแห่ง จัดเตรียมแผนย้ายเครื่องบินของตน ออกจากไปจากท่าอากาศยานนานาชาตินครโฮจิมินห์ กับฮานอย โดยให้ไปจอดแรมคืนที่สนามบินแห่งอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทั้งนี้เนื่องจากท่าอากาศยานใหญ่ทั้งสองแห่ง ไม่มีพื้นที่เพียงพอ รองรับให้เครื่องบินจอดค้างคืนต่อไป ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นความวิตกกังวลใหม่ในอุตสาหกรรมการบินของประเทศ
ท่าอากาศยานนานาชาตินครโฮจิมินห์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบินในภาคใต้เวียดนาม กำลังประสบปัญหานี้อย่างหนักหน่วงที่สุด โดยมีที่จอดแรมคืนสำหรับเครื่องบินขนาดต่างๆ เพียง 57 ลำเท่านั้น เพราะฉะนั้น ทั้งเวียดนามแอร์ไลน์ส เวียดเจ็ตแอร์ เจ็ตสตาร์แปซิฟิก และ วาสโก้แอร์ จะต้องย้ายไปจอดที่สนามบินใกล้สุด ที่นครเกิ่นเทอ (Can Tho) ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งได้ชื่อเป็นนครศูนย์กลางเขตที่ราบปากแม่น้ำโขง
องค์การบริหารการบินเวียดนาม และ กรมการบินพลเรือน ได้กำหนดเส้นตายในวันที่ 30 ม.ค.2560 หรือ อีกราว 1 เดือนข้างหน้า สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามหลายแห่ง รายงานเรื่องนี้่ในวันอาทิตย์ 25 ธ.ค.
การย้ายเครื่องบินไปจอดที่อื่นอาจฟังดูเป็นเรื่องง่าย แต่สำหรับสายการบินต่างๆ นั้น การบินขึ้นแต่ละครั้งหมายถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ติดตามมาาอีกมหาศาล เนื่องจากระยะทางการบินเพิ่มขึ้น ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่าย ในการจัดระบบบริการต่างๆ เพื่อรองรับ
แต่ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง เกิดจากสายการบินต่างๆ เพิ่มจำนวนเที่ยวบินภายในประเทศมากมาย ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รวมทั้งจัดซื้อเครื่องบินใหม่เป็นจำนวนมาก ทำให้ยากที่จะหาพื้นที่จอดค้างคืนได้เพียงพอ และ ท่าอากาศยานโฮจิมินห์ไม่ได้สร้างขึ้นมา เพื่อเตรียมรับในเรื่องนี้ จึงจำเป็นจะต้องลดโหลดลง เพื่อความสะดวก กับ ความปลอดภัยด้านการบิน
วิธีการที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เครื่องบินของสายการบินในประเทศทุกแห่ง ที่ "ล้นสนาม" จะต้องย้ายจากไปจอดค้างคืน ที่สนามบินเกิ่นเทอ และ บินกลับไปสนามบินโฮจิมินห์ในเวลาเช้า เพื่อเริ่มให้บริการผู้โดยสารประจำวัน โดยปฏิบัติเป็นวัฏจักรเช่นนี้ สายการบินทุกแห่งจะต้องจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม กับท่าอากาศยานโฮจิมินห์ เพื่อจัดทำตารางเวลาขึ้นลงต่างๆ รวมทั้งจัดการบริการภาคพื้นดินใหม่ทั้งหมด
อีกแห่งหนึ่งที่กรมการบินพลเรือน เปิดให้เป็นทางเลือกไปจอดแรมคืน ก็คือสนามบินกามแรง (Cam Ranh) ที่อยู่ห่างขึ้นไปทางทิศเหนือ ในภาคกลางตอนล่าง
ไม่เพียงแต่ท่าอากาศนานาชาติโฮจิมินห์เท่านั้น ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงฮานอยก็กำลังดำเนินมาตรการเดียวกัน โดยให้เครื่องบินสายการบินทุกแห่ง ที่ "ล้นสนาม" ไปจอดแรมคืนที่สนามบินก๊าตบิ (Cat Bi) นครหายฝ่อง (Haiphong) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ ที่อยู่ห่างออกไปไม่ถึง 100 กม.ทางอากาศ ทั้งนี้เพื่ออ๊อฟโหลด สนามบินโนยบ่าย (Noi Bai) ในเมืองหลวง
ลองหลับตานึกดูภาพ ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า เครื่องบินโดยสารลำหนึ่งๆ ที่มีปีกสองข้าง จะต้องใช้พื้นที่มากเพียงใดในการจอด และ ยังจะต้องมีเนื้อที่อีกส่วนหนึง สำหรับการลากเข้าออก ไปยังบริเวณแท้กซี่เวย์เพื่อไปให้บริการผู้โดยสาร
ตามตัวเลขของสำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรส ในปี 2559 นี้ เวียดนามแอร์ไลน์เพียงแห่งเดียว มีเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 147 ลำ มากกว่าปีที่แล้ว 14 ลำ และ ภายในสิ้นปีนี้กำลังจะได้รับมอบอีก 5 ลำ
สายการบินในประเทศทุกแห่ง ต่างมีเครื่องบินลำใหม่ ทั้งซื้อและเช่า ในขณะที่อุตสาหกรรมการบินในประเทศกำลังเฟื่องฟู ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถบินได้ เวียดเจ็ตแอร์สายการบินราคาประหยัดเพียงแห่งเดียว กำลังจะมีเครื่องบินอีกนับร้อยลำในไม่กี่ปีข้างหน้านี้
องค์การบริหารการบินเวียดนาม ได้เตือนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเป็นเวลานับสิบปี เสนอให้รัฐบาลเร่งการก่อสร้าง ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งใหม่ ในพื้นที่ อ.ลองแถ่ง (Ling Thanh) จ.โด่งนาย (Dong Nai) โดยท่าอากาศยานแห่งใหม่ จะอยู่ห่างออกไปราว 40 กม. และ ใช้ท่าอากาศยานโฮจิมินห์ เป็นศูนย์กลางการบินภายในประเทศ แต่เพียงอย่างเดียว แต่โครงการล่าช้ามานานนับสิบปีเช่นกัน
โครงการสนามบินลองแถ่ง ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาหลายครั้ง บรรดาผู้แทนราษฎรที่คัดค้าน แสดงความกังวลว่า สนามบินใหญ่แห่งใหม่ จะทำให้หนี้สินของประเทศเพิ่มขึ้นอีกมาก ในขณะที่มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก ที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่า และต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่เช่นเดียวกัน.
.
2
3