เอเอฟพี - ผู้ชุมนุมประท้วงชาวเวียดนามหลายพันคนรวมตัวรอบโรงงานเหล็กของไต้หวัน ในวันนี้ (2) บางคนปีนรั้ว และชูป้ายเรียกร้องให้ปิดโรงงาน ท่ามกลางความโกรธแค้นต่อบริษัทจากการปล่อยของเสียปนเปื้อนสารพิษลงทะเลที่ทำให้ปลาตายจำนวนหลายตัน
ฝูงชนจำนวนมากรวมตัวกันที่โรงงานฟอร์โมซา ใน จ.ห่าติ๋ง (Ha Tinh) โดยบางคนถือป้ายทีี่มีข้อความเขียนว่า “ทางการโปรดปิดโรงงานฟอร์โมซาเพื่ออนาคตของชาติ” ขณะที่หลายคนร้องตะโกนคำประท้วง
เหตุปลา และสิ่งมีชีวิตในทะเลตายเป็นจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางของประเทศในเดือน เม.ย. ที่เป็นภัยพิบัติทางระบบนิเวศครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปีที่สร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองตามแนวชายฝั่งทะเลที่การทำประมงเป็นแหล่งรายได้หลัก
บริษัทฟอร์โมซา ของไต้หวัน ที่กำลังสร้างโรงงานเหล็กมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ในพื้นที่ ถูกกล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุของภัยพิบัติดังกล่าว และถูกปรับเงิน 500 ล้านดอลลาร์
รัฐบาลกล่าวว่า บริษัทจะเริ่มจ่ายเงินชดเชยให้ชาวประมงที่ได้รับผลกระทบในเดือน ต.ค. และยืนยันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จำนวนเงินที่จ่ายจะอยู่ระหว่าง 130-1,600 ดอลลาร์ต่อคน ขึ้นอยู่กับการคำนวณความเสียหายระหว่างเดือน เม.ย.-ก.ย. แต่บรรดาผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องการชดเชยเพิ่มเติม
“ผู้ชุมนุมประท้วงที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุอื้อฉาวของฟอร์โมซา ร้องขอการชดเชย และต้องการให้ปิดโรงงาน” ผู้เห็นเหตุการณ์ กล่าว
ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอบนสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นผู้ชุมนุมประท้วง นำโดยบาทหลวงนิกายคาทอลิก อยู่โดยรอบโรงงานเหล็กในเมืองกี๋แอ็ง และร้องตะโกนถ้อยความในคัมภีร์ไบเบิล
“เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยจำนวนมากถูกระดมกำลังมาที่นี่ แต่ไม่มีการปะทะใดๆ เกิดขึ้น” ผู้ร่วมชุมนุมรายหนึ่ง กล่าว
การชุมนุมครั้งนี้มีขึ้นหลังชาวประมงในพื้นที่รวมตัวยื่นฟ้องเรียกร้องการชดเชยเพิ่มเติมจากรัฐบาลเกี่ยวกับภัยพิบัติ
ผู้ชุมนุมประท้วงได้จัดการชุมนุมในหลายเมืองทั่วประเทศ หลังเกิดเหตุปลาตายจำนวนมหาศาล แต่บางครั้งตำรวจได้เข้าสลายการชุมนุม และจับกุมผู้ชุมนุมไปเป็นจำนวนมาก
บริษัทฟอร์โมซา ไม่ใช่คนแปลกหน้าจากเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในเวียดนาม เมื่อปี 2557 มีผู้เสียชีวิต 3 คน จากเหตุจลาจลต่อต้านจีนซึ่งเกิดขึ้นที่โรงงานเหล็กแห่งเดียวกันนี้ ที่ยังเกิดเหตุนั่งร้านก่อสร้างพังถล่มจนมีผู้เสียชีวิต 14 คน เมื่อปีก่อน.