MGRออนไลน์ -- บริษัทยักษ์ใหญ่ค้าส่ง-ค้าปลีก รวมทั้งยังเป็นผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ชั้นนำของโลก ได้เซ็นสัญญาซื้อน้ำตาลโตนด หรือ น้ำตาลที่ผลิตจากต้นตาลโตนด ใน จ.กัมปงสะปือ รวมเป็นปริมาณถึง 2,000 ตัน เพื่อป้อนตลาดในต่างประเทศ ซึ่งช่วยดันให้ยอดจำหน่ายของน้ำตาลจากจังหวัดนี้สูงขึ้นไปอีก สำนักข่าวกัมพูชารายงาน อ้างเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น
เจ้าหน้าที่ทางการของจังหวัดนั้นกล่าวว่า ด้วยความต้องการปริมาณที่สูงขึ้น และ จำหน่ายได้ราคาดี ทำให้เชื่อว่า ตลอดปี 2559 เกษตรกรเจ้าของต้นตาลในจังหวัดนี้ รวมทั้งผู้ผลิตน้ำตาลสำเร็จรูป จะมีรายได้จากน้ำตาลโตนดรวมกัน อย่างน้อย 520,000 ดอลลาร์
"เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก จู่ๆ ยูนิลีเวอร์ก็ประกาศซื้อน้ำตาลโตนดถึง 2,000 ตัน จากทั้งชุมชน โดยจะเริ่มในปี 2560 นี้" ปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เกษตรกร กับผู้ผลิตในจังหวัด ต้องรักษาระดับคุณภาพของผลผลิต เพื่อรักษาตลาด นายซอม สะเรือน (Sam Saroeun) ประธานสมาคมส่งเสริมน้ำตาลโตหนด จ.กัมปงสะปือ กล่าว
น้ำตาลโตนดของกัมพูชา เป็นที่ขึ้นชื่อลือชามาแต่ไหนแต่ไร ต้นตาลมีอยู่ทั่วไปในทุกจังหวัดทั่วประเทศ แต่กัมปงสะปือ กันดาล กับ จ.โพธิสัตว์ ดูจะเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุด
กัมปงสะปือ มีดินอุดมและมีต้นตาลมากที่สุดในประเทศ สามารถผลิตน้ำตาลโตนดคุณภาพดี ได้ระหว่าง 2,000-3,500 ตันต่อปี ซึ่งชื่อว่าเพียงพอแก่ความต้องการของบริษัทยักษ์ใหญ่ ทางการจะจัดประชุมเกษตรกร กับผู้ผลิตในท้องถิ่น เพื่อหาทางเพิ่มผลผลิตให้ได้อีก ปีละประมาณ 400 ตัน เพื่อให้มีหลักประกันมากยิ่งขึ้น
.
.
นายสะเรือนกล่าวอีกว่า ทั่วจังหวัดมีต้นตาลโตนดรวมกันประมาณ 500,000 ตัน ตั้งแต่ อ.สำโรงโตง (Samrong Tong) อ.สนูล (Snoul) จนถึง อ.อูดง (Udong) ปัจจุบันมีอยู่กว่า 1,000 ต้น ที่กำลังให้น้ำตาล
สำหรับไทย มีการผลิตน้ำตาลโตนดมากที่สุด ในเขตอำเภอรอบนอกของ จ.สงขลา รองลงมาเป็น จ.เพชรบุรี และ ยังมีการผลิตในอีกหลายจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งในภาคกลาง เป็นน้ำตาลที่มีความหอม หวานอร่อย ใช้ในการทำขนมหลายชนิดมาแต่โบราณกาล รวมทั้งนิยมรับประทานกันทั่วไป เป็นขนมหวานในชีวิตประจำวัน
ตามข้อมูลสถิติทางการเกษตรนั้น ตาลโตนดเป็นไม้วงศ์ปาล์ม และมะพร้าว แต่ลำต้นแข็งแรงกว่า และอายุยืนยาวกว่า คืออยู่ได้ 80-100 ปี ต้นโตเต็มที่สูง 18- 25 เมตร หรือ กว่านั้น เริ่มให้น้ำตาลกับลูกตาลได้เมื่อมีอายุ 10-15 ปี ขึ้นได้บนดินทุกชนิด ทนแล้ง และน้ำท่วมได้ดี ไม่มีผลต่อพืชอื่นๆ รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว หรือสวนผัก ต้นตาลสมบูรณ์เต็มที่ แต่ละต้นสามารถให้น้ำตาลได้วันละ 20-40 ลิตร
การผลิต "น้่ำหวาน" จากต้นตาลมีความยุ่งยากพอสมควร มีกรรมวิธี รวมทั้งการใช้วัสดุในการผลิตคล้ายคลึงกัน แต่มีรายละเอียดและเทคนิคแตกต่างกันไป ตามภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น.