เอพี - การดำเนินชีวิตในแต่ละวันของชาวพม่าหลายล้านคนจะไม่สมบูรณ์ได้ หากไม่ได้เคี้ยวใบพลูที่ห่อหมาก และปูนขาว ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับชีสในฝรั่งเศส หรือชาในอังกฤษ
แต่บรรดาชาวพม่าที่ชื่นชอบการเคี้ยวหมาก หรือ “กุน-ยา” เป็นชีวิตจิตใจคงจะกลืนน้ำลายยากสักหน่อยในตอนนี้ เพราะต้องจ่ายเงินซื้อหมากเพิ่มเป็นเท่าตัว เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนหนัก ทำให้ราคาส่วนผสมพุ่งขึ้นไปตามๆ กัน
ภัยแล้งรุนแรงในช่วงฤดูร้อนกระทบต่อผลผลิตทั้งใบพลู และสวนหมากที่อาศัยระบบชลประทาน และหลังจากภัยแล้งผ่านพ้น ก็ตามมาด้วยพายุฝนรุนแรงพัดกระหน่ำพืชผลที่เหลืออยู่
ไม่มีที่ไหนที่จะได้รับผลกระทบเท่าหมู่บ้านตันพะยูโยน ที่ในทุกๆ เช้า เกษตรกรจะเก็บใบพลูจัดเรียงลงในตะกร้าไม้ไผ่สาน และส่งไปยังตลาดค้าส่งใกล้นครย่างกุ้ง
“ชาวสวนพลูมักจะอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำในหมู่บ้านเพื่อปลูกต้นพลู แต่ปีนี้แล้งจัด ต้นพลูเสียหายไปมหาศาล เราทำอะไรไม่ได้เลย” จี ละวิน เกษตรกรผู้ปลูกต้นพลู กล่าว
ใบพลูสีเขียวสดขนาดเท่าฝ่ามือผู้ใหญ่ ปกติมีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 1.80-2.50 ดอลลาร์ แต่เพราะความขาดแคลนทำให้ราคาถีบตัวสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า ที่ 11,000 จ๊าต หรือ 9 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่มากกว่าค่าจ้างรายวันของแรงงานก่อสร้างเสียอีก
“มันเพิ่งเคยเกิดขึ้นในปีนี้” เมียว ลิน ทุน คนขายของในตลาดค้าส่งทิริมิงกาลา ในนครย่างกุ้ง กล่าว
การเคี้ยวกุน-ยา มีมานานหลายศตวรรษในพม่า ทุกหมู่บ้านทุกเมืองในประเทศมักจะมีซุ้มเล็กๆ ตั้งขายหมากห่อละ 4 คำ ในราคาประมาณ 10 เซ็นต์ แต่ในนครย่างกุ้งเวลานี้ เพียว พาย คนงานก่อสร้างรายหนึ่งพูดบ่นว่า เขาได้หมากแค่ครึ่งหนึ่งจากที่เคยซื้อได้ในราคาเท่ากัน
“ผมเคยซื้อหมาก 4 ห่อ ในราคา 100 จ๊าต ซึ่งผมแฮปปี้มาก แต่ตอนนี้ได้แค่ 2 ห่อ เป็นอะไรที่ค่อนข้างผิดหวัง” เพียว พาย กล่าว
ใบพลูหนึ่งใบห่อส่วนผสมที่มีทั้งผลหมาก ปูนขาว เครื่องเทศ และบางครั้งใส่ยาสูบ ซึ่งสำหรับคนที่ชื่นชอบพวกเขาสามารถเคี้ยวหมากได้ทั้งวัน ในปากของพวกเขาเต็มไปด้วยน้ำหมาก และน้ำลายที่กลายเป็นสีแดง และมักบ้วนน้ำหมากทิ้งในที่โล่ง ทำให้คราบสีแดงของน้ำหมากติดอยู่ทั่วทั้งทางเท้า ป้ายรถเมล์ ผนัง ห้องน้ำสาธารณะ และที่อื่นๆ เหลือไว้เพียงคราบสีแดงที่ฟัน และเหงือก ขณะที่บรรดาคนขับรถโดยสาร รถบรรทุก และรถแท็กซี่ให้ความเห็นว่า คุณภาพของสารกระตุ้นในหมากนั้นช่วยให้พวกเขารู้สึกตื่นตัวอยู่ตลอด
ผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก ระบุว่า 62% ของเพศชาย และ 24% ของเพศหญิงในพม่าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบไร้ควัน เช่น กุน-ยา มีความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็งในช่องปาก และเมื่อเดือนก่อน รัฐบาลพม่าได้ออกคำสั่งห้ามพนักงานทุกคนเคี้ยวหมากในเวลางาน และไม่อนุญาตให้ร้านขายหมากตั้งอยู่ภายในสถานที่ราชการ.
.
.
.
.
.