เอเอฟพี - นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังเมืองพุกาม ของพม่า จะไม่มีโอกาสได้ปีนขึ้นไปชมวิวทุ่งเจดีย์นับพันยอดที่มีชื่อเสียงของประเทศ หลังรัฐบาลมีคำสั่งห้าม เพื่อป้องกันพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักท่องเที่ยว
ข้อห้ามใหม่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป จะยุติธรรมเนียมที่เห็นกันชินตาในทุกๆ วัน ที่บรรดานักท่องเที่ยวจำนวนหลายร้อยคน และผู้แสวงบุญท้องถิ่นปีนไต่โครงสร้างโบราณเพื่อชมพระอาทิตย์ตกเหนือทุ่งเจดีย์ที่มีจำนวนมากกว่า 2,500 ยอด
กระทรวงวัฒนธรรมของพม่า ระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยปกป้องสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่ถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนท้องถิ่นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อบรรดาคนที่ปีนขึ้นไป
“ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าจะมีคำเตือนก็ตาม ประชาชนที่ปีนเจดีย์มักกระทำพฤติกรรมที่ไม่ดี ขัดต่อวัฒนธรรมอันดีงาม เช่น การสวมเสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสม เต้นรำ หรือนอนหลับบนเจดีย์” กระทรวงวัฒนธรรม ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของกระทรวง
“เราต้องการที่จะประกาศว่าไม่มีใครได้รับอนุญาตให้ปีนขึ้นไปบนเจดีย์ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.เป็นต้นไป” คำแถลงที่เผยแพร่ในวันจันทร์ (22) ระบุ
นับตั้งแต่พม่าหลุดพ้นจากการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร พม่ากลายเป็นหนึ่งในปลายทางท่องเที่ยวที่ต้องมาเยือน และมักปรากฏภาพถ่ายมุมสูงของทุ่งเจดีย์พุกามท่ามกลางสายหมอกที่ปกคลุมทั่วพื้นที่ด้วยเสมอ
ตามรายงานสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบครึ่งล้านเดินทางผ่านนครย่างกุ้ง ที่เป็นประตูหลักของพม่าเมื่อปีก่อน ที่จำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี 2554 และหลายคนมุ่งตรงไปที่พุกาม ที่แนวโน้มนี้คาดว่าจะยังคงดำเนินต่อไปแม้ทางการพม่าจะออกกฎระเบียบใหม่ก็ตาม
หน่อง หน่อง ฮาน จากสมาคมการท่องเที่ยวแห่งสหภาพพม่า ที่เป็นตัวแทนบริษัททัวร์เอกชน ระบุว่า พุกาม เป็นปลายทางที่สร้างความพึงพอใจให้แก่นักท่องเที่ยว
เพียว ไว ยา ซา ผู้จัดการทัวร์ ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการตลาดการท่องเที่ยวพม่าระบุว่า มีแนวโน้มที่กฎระเบียบใหม่นี้จะกระทบต่อธุรกิจ
“การท่องเที่ยวเป็นหนทางที่จะแสดงให้เห็นถึงมรดกทางวัฒนธรรม และข่าวเกี่ยวกับการห้ามวิธีที่จะแสดงมรดกทางวัฒนธรรมนี้จะกระทบธุรกิจท่องเที่ยว” เพียว ไว ยา ซา กล่าว
พม่า ต้องการที่จะให้เมืองโบราณพุกามได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยยูเนสโก แต่ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า งานบูรณะเจดีย์บางแห่งในสมัยการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่รวมทั้งการสร้างโครงสร้างใหม่ทับซ้อนเหนือฐานรากโบราณได้สร้างความเสียหายต่อภูมิทัศน์อย่างไม่สามารถเอากลับคืนมาได้.