MGRออนไลน์ -- เป็นเรื่องแปลกแต่จริง การสัญจรทางอากาศระหว่างเวียดนามภาคเหนือ กับภาคใต้ เริ่มแออัดคับคั่ง ทำให้ทางการต้องคิดหาวิธีแก้ไขด้วยการเปิดเส้นทางบินคู่ขนาน ให้เครื่องบินโดยสารทุกลำ ระหว่างกรุงฮานอย กับนครโฮจิมินห์ ต้องบินแบบ “วันเวย์” คือ ไปเส้นทางหนึ่ง และบินกลับอีกเส้นทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบเร่งเตรียมการ เพื่อเริ่มดำเนินมาตรการนี้อีกไม่นาน
ตามรายงานของสื่อทางการ นายกรัฐมนตรี เหวียนเติ๋นยวุ๋ง ได้อนุมัติเส้นทางบินใหม่นี้ ก่อนสิ้นปี 2558 ที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างภาคเหนือ กับภาคใต้ ได้มากขึ้น เนื่องจากมีผู้โดยสารนิยมเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มในอัตราสูงมาก
นายลายซวนแทง (Lai Xuan Thanh) อธิบดีกรมการบินพลเรือนเวียดนาม เปิดเผยว่า เส้นทางบินใหม่ กับเส้นทางปัจจุบัน จะคู่ขนานกัน โดยอยู่ห่างกันเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร ให้เที่ยวบินจากภาคใต้ บินตามเส้นทางใหม่เพื่อขึ้นเหนือ และ ให้ทุกเที่ยวบินที่บินจากภาคเหนือลงภาคใต้ใช้เส้นทางปัจจุบัน นับเป็นวิธีเลี่ยงที่จะไม่ต้องบินผ่านน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ไม่ต้องบินอ้อมออกสู่ “ทะเลตะวันออก” ไกลจนเกินไป
สถิติของทางการระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้อุตสาหกรรมการบินในเวียดนามมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้น 8 - 10% ต่อปี และเส้นทางเหนือ - ใต้ คับคั่งที่สุด คิดเป็นประมาณ 70% ของเที่ยวบินทั้งหมด
ในช่วงทศวรรศที่ 1980 แต่ละวันมีเที่ยวบินในประเทศเพียงไม่กี่สิบเที่ยว ปัจจุบันมีเที่ยวบินที่ให้บริการบินเชื่อมจังหวัด และท้องถิ่นต่าง ๆ 1,250 เที่ยวต่อวัน และ เชื่อว่าภายในปี 2563 จำนวนเที่ยวบินจะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าตัว เนื่องจากเวียดนามเป็น “ประตูสู่เอเชียแปซิฟิก” อีกแห่งหนึ่ง
ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันสนามบินนานาชาติใหญ่ที่สุด 2 แห่งในประเทศ คือ ท่าอากาศยานโฮจิมินห์ (เตินเซินเญิ๊ต) กับ สนามบินโนยบ่าย กรุงฮานอย เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินต้องทำงานอย่างหนัก และ ละเอียดรอบคอบ เนื่องจากมีเที่ยวบินขึ้นและลงจอดเฉลี่ย 30 - 35 เที่ยวต่อชั่วโมง คือ มีเครื่องบินขึ้นลงทุก ๆ 2 นาที หนังสือพิมพ์เญิน ซเวิน ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามรายงาน
นายซวนแทง กล่าวว่า มาตรการใหม่นี้ทำให้เที่ยวบินต่าง ๆ สามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้มากขึ้น และ การสัญจรทางอากาศมีความปลอดภัยสูงสุด